posttoday

ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไทย

15 พฤศจิกายน 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 ในวันนี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 ในวันจันทร์นี้ พร้อมทั้งคาดการณ์เศรษฐกิจจากสภาพัฒน์ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเผชิญกับจุดต่ำสุดของปีในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเผชิญกับการแพร่ระบาดที่รุนแรงและการปิดเมือง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยตลาดคาดการณ์จีดีพีไตรมาสที่ 3 หดตัว -2.60%YoY จากที่ขยายตัว 7.50%YoY ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านต่างประเทศ ยูโรโซนจะเปิดเผยตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.70%YoY จากที่ขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 14.20%YoY ในไตรมาสที่ 2 และจะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นที่ 4.10%YoY จาก 3.40%YoY ในเดือนกันยายน ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการดำเนินนโยบายของอีซีบี ซึ่งปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ย 20bps ในเดือนธันวาคม 2022

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ด้วยปัจจัยภายในประเทศที่มีแนวโน้มในเชิงบวกรับการเปิดประเทศ ในขณะที่ กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาด โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตใกล้เคียงกับประมาณการเดิม เนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อาจสูงกว่าประมาณการเดิมที่ประเมินไว้ได้ จากเงินเฟ้อไทยในเดือนตุลาคมที่ขยายตัว 2.38%YoY สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาผักสดที่แพงขึ้นเนื่องจากผลกระทบของอุทกภัย ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.21%YoY

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่พุ่งสูงถึง 6.2%YoY เป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 เนื่องจากราคาพลังงานและความต้องการยานพาหนะเป็นหลัก ประกอบกับภาวะชะงักงันด้านอุปทาน ด้วยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนี้ ทำให้ไบเดนประกาศว่าการจัดการกับเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นในเวลานี้ และเป็นแรงกดดันที่ส่งผ่านไปถึงการคัดเลือกประธานเฟดคนถัดไป ทั้งนี้ ไบเดนได้สัมภาษณ์ลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาเป็นประธานเฟดคนถัดไป โดยเบรนนาร์ดเป็นสมาชิกปัจจุบันเพียงคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อโดยแดโมแครตในปี 2014 ในสมัยโอบามา และเป็นผู้ที่ค่อนข้างเข้มงวดในการควบคุมตลาดการเงินมากกว่าโพเวล ด้านสมาชิกเฟดยังคงมีความเห็นที่หลากหลายต่อการขึ้นดอกเบี้ย โดยแมรี่ ดาลี่ ประธานเฟดซานฟรานซิสโกระบุว่าต้องการรอดูเงินเฟ้อในช่วงฤดูร้อนปีหน้า เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่เจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีหน้า และการลดคิวอีอาจสิ้นสุดเร็วกว่าคาด ด้านริชาร์ค คลาริด้า รองประธานเฟดระบุว่าเงื่อนไขในการขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มบรรลุในช่วงปลายปี 2022 และแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่สร้างปัญหาให้กับธนาคารกลาง ทั้งนี้ ชาร์ล อีวานส์ ประธานเฟดชิคาโกระบุว่าเงินเฟ้อจะมีการกระจายตัวในวงกว้างมากกว่านี้ แต่ยังคงมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในปี 2023 นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ซึ่งรวมถึงงบลงทุนในการขนส่ง อินเตอร์เน็ต และสาธารณูปโภคด้วย

ด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียเพิ่มขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เตือนยุโรปว่ารัสเซียอาจบุกยูเครน เนื่องจากมีการสะสมกำลังทหารใกล้แนวชายแดนของยูเครน รวมถึงมีความขัดแย้งในเรื่องของไครเมียและการส่งก๊าซด้วย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังระบุว่ารัสเซียฉวยโอกาสในช่วงวิกฤตพลังงานของยุโรป ในขณะที่รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาและระบุว่าพร้อมช่วยเหลือยุโรป ด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง จากการที่ไบเดนและสีจิ้นผิงจะมีกำหนดการประชุมทางไกลกันในวันจันทร์นี้ และมีข่าวว่าสีจิ้นผิงจะชวนไปเดนมาร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งด้วย

ด้านโควิด-19 ไฟเซอร์พัฒนายาแพคโลวิด ซึ่งระบุว่าสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึง 89% สูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คที่ 50% โดยไฟเซอร์จะขออนุมัติจากทาง อ.ย. สหรัฐฯ ในเร็ววันนี้ ในขณะที่ อ.ย. ยุโรปอนุมัติยารักษาโควิด-19 จากเรเจเนอรอน-โรช และเซลเทรียน ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ในเยอรมนีที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึงกว่า 50,000 รายต่อวัน

ฝั่งยุโรป ลาการ์ดยังคงเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ในขณะที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอีซีบี ฟิลิป เลน ระบุว่าจำเป็นต้องมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมายในระยะถัดไป ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของลาการ์ด ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจยุโรปจะเติบโต 5%, 4.3% และ 2.5% ในปี 2021, 2022 และ 2023 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ 0.2% และปรับลดคาดการณ์ในปีหน้าลง 0.2% พร้อมทั้งระบุว่าเศรษฐกิจยุโรปกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้วในช่วงฤดูร้อนที่ผ่อนมา เนื่องจากการฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ด้านเงินเฟ้อคาดการณ์ว่าจะแตะจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยรวมคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 2.4% ก่อนจะชะลอลงไปอยู่ที่ 2.2% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023 ทั้งนี้ ตลาดเงินยังคงคาดการณ์ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ย 20bps ในเดือนธันวาคม 2022

ด้านเอเชีย การส่งออกจีนในเดือนตุลาคมขยายตัว 27.1%YoY สูงกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนตุลาคมขยายตัว 13.5%YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าคาดการณ์ ส่งสัญญาณว่าภาวะชะงักงันภาคอุปทานในจีนยังไม่คลี่คลาย ในขณะที่ทางการจีนประกาศว่าปัญหาขาดแคลนพลังงานในจีนคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากปริมาณถ่านหินในคลังกลับมาเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ทางฝั่งญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจจากกำลังฟื้นตัวเป็นอ่อนแอลง เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 ในขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้ 2.4% ในปี 2021 เนื่องจากแรงหนุนของการส่งออก

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.81 ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดมาจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่พุ่งสูงถึง 6.2%YoY เป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วที่สุดนับตั้แต่ปี 1990 ซึ่งเหนือกว่าคาดการณ์และตัวเลขเดือนก่อนหน้าที่ 5.9%YoY และ 5.4%YoY ตามลำดับ ส่งผลให้ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยกลับมาอีกครั้ง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอย่าง 2ปี และ 5ปี ปรับตัวสูงขึ้น 15bps และ 20bps ตามลำดับ ขณะที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง (Bear Flattening) โดย spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5ปีกับ 30ปี (UST 5-30Y Spread) ปรับตัวแคบลงมากสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 67 bps

ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไทย

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยประเด็นสำคัญในประเทศอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามการคาดการณ์ของตลาด พร้อมกับให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 และประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะใกล้เคียงกับระดับที่ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้าคือ 0.70% และ 3.90% ตามลำดับ ทั้งนี้เราคาดว่าถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะเจอจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่ไทยเริ่มเปิดประเทศและคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป ทางด้านกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 47,476 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 28,035 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 19,547 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 106 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.53% 0.66% 0.85% 1.18% 1.53% และ 1.92% ตามลำดับ