posttoday

ถึงเวลาซื้อหุ้นญี่ปุ่น ฟื้นตัวดีสุดใน 4Q2021

26 ตุลาคม 2564

โดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดการเงินการลงทุนถูกปกคลุมด้วยความกังวลต่างๆ จากนโยบายการเงินและการคลังในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศปรับลดวงเงิน Qualitative Easing (QE) ของ Fed (QE Tapering) โดยประกาศว่า จะเริ่มต้นในเดือน พฤศจิกายน นี้ และคาดว่า จะสิ้นสุดในช่วงกลางปี 2022 อีกทั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดการเงิน และกระทบต่อราคาสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการปรับเพิ่มขึ้นภาษีในแต่ประเภทของสหรัฐฯ ที่เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสภามากขึ้น ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริงอาจส่งผลต่อผลประกอบการบริษัทฯ ตลอดจนบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงข้างต้น พบว่า ตลาดหุ้น Developed Market (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อย และสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศอีกด้วย อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดดเด่น การปรับเพิ่มประมาณการผลประกอบการบริษัทฯ และระดับ Valuation ที่ยังไม่สูง ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในช่วง 4Q2021 นี้

จากการรวบรวมข้อมูลโดย TISCO Economic Strategic Units (TISCO ESU) พบว่า ประเด็นความกังวลเรื่อง QE Tapering และแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 กระทบต่อตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Markets อย่างมีนัยสำคัญ โดยดัชนี MSCI Asia ex Japan, MSCI Latin America และ SET Index ปรับตัวลดลง -4.1% -17.3% และ -20.9% ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นในฝั่ง Developed Markets กลับ Outperform ในช่วงเดียวกันโดยตลาดหุ้น S&P 500, Euro Stoxx 600 และ NIKKEI 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.1% 8.0% และ 0.1% ตามลำดับ ซึ่งหากอิงตามสถิติที่ผ่านมาตลาดหุ้น DM น่าจะยังสามารถ Outperform ตลาด EM ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากประเด็นเรื่อง QE Tapering ข้างต้น การฟื้นตัวของของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจของ สหรัฐฯ และ ยุโรป ได้ผ่านช่วงของการฟื้นตัวสูงสุดไปแล้ว ในขณะที่การฟื้นตัวของญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ โดย Goldman Sachs คาดว่า GDP ของ ญี่ปุ่นจะเติบโตถึง +8.4% qoq, annualized มากกว่า สหรัฐฯ และ ยุโรปที่เติบโต +6.0% และ 5.4% qoq, annualized ตามลำดับ ตามที่แสดงในแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1: ตารางแสดงตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศในกลุ่ม Developed Markets และ ตัวเลขภาพรวมทั่วโลก

ที่มา: Goldman Sachs Global Investment Research

สอดคล้องกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนักวิเคราะห์ได้มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2021 นี้ จะเป็นปีแรกในรอบราว 4 ปี ที่ผลประกอบการบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่หลังช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน โดย Goldman Sachs คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น TOPIX ของญี่ปุ่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 33% yoy (As of 1USD = 105 Yen) ขณะเดียวกันในด้าน Valuation พบว่า ปัจจุบันตลาดหุ้น TOPIX ซื้อ - ขายอยู่ที่ระดับ Forward P/E 15x เท่า ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี และระดับ Valuation ยัง Discount จากตลาดหุ้นโลกราว 23% (As of 3 Sep 2021) อีกด้วย

จากบทความข้างต้นจะพบว่า ใน 4Q2021 นี้จะมีประเด็นเข้ามากดดันตลาดการลงทุนในหลากหลายประเด็นด้วยกัน และจะเข้ามากระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ตลอดจน Sentiment การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ ซึ่งตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็น 1 ในตลาดที่ได้รับผลกระทบดั่งกล่าวน้อย ตลอดจนมีปัจจัยสนับสนุนโดยเฉพาะ ทำให้คาดว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะสามารถ Outperform ตลาดหุ้นโดยรวมได้ในอนาคต