posttoday

ติดตามนโยบายการเงินของอีซีบีและบีโอเจ และจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ

25 ตุลาคม 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประชุมอีซีบีที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อสูงเช่นเดียวกันกับเฟด

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประชุมอีซีบีที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อสูงเช่นเดียวกันกับเฟด ในขณะที่ลาการ์ดส่งสัญญาณว่าอีซีบีจะไม่รีบร้อนดำเนินการต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และจะค่อยๆ ปรับนโยบายการเงินของอีซีบีให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งลาการ์ดประเมินว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากภาวะคอขวดของภาคอุปทานและจะไม่มีผลในระยะกลาง ด้านบีโอเจจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยในการประชุมครั้งล่าสุด บีโอเจมีมติ 8-1 ให้คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ในขณะที่ 1 เสียงนั้นลงความเห็นให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ สหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ในวันพฤหัสบดี ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.0% Annualised QoQ จากในไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.7% Annualised QoQ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลต้า และในวันศุกร์ ยูโรโซนจะเปิดเผยจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ประเทศไทยจะเผยแพร่ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกันยายน ซึ่งจะส่งสัญญาณถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะถัดไปด้วย

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 18-21 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทยังคงผันผวน และปิดตลาดอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดย ธปท. ระบุว่าตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนมาก เนื่องจากกระแสการไหลของเงินทุนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ธปท. ยังกล่าวว่านโยบายการเงินแบบตรงจุดจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย และประเมินว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (Reflation) โดยไทยจะไม่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงพร้อมกับการว่างงานที่สูงขึ้น (Stagflation) ด้านภาครัฐอนุมัติงบ 92,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรคนจน กลุ่มเปราะบาง คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และการจ้างงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก พร้อมทั้งประกาศจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 4 เดือน โดยจะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน และภาครัฐคาดการณ์ว่าจะตรึงราคาน้ำมันไว้ได้หากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่เกิน 87.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ในขณะที่หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางการประกาศกำไรที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกเดือนกันยายนขยายตัว 0.7%MoM ดีกว่าคาดที่ -0.2%MoM เนื่องจากความต้องการผู้บริโภคที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อ ด้านไบเดนเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.75-1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เสนอวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ แดโมแครตยังพิจารณาถึงการคงภาษีเงินได้สำหรับขั้นภาษีสูงสุดด้วย ด้านรายงานเศรษฐกิจของเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้เล็กน้อยถึงปานกลางด้วยปัญหาการชะงักงันในภาคอุปทานและความกังวลต่อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากภาวะคอขวดของภาคอุปทาน ภาคการขนส่ง และตลาดแรงงาน ทางด้านสมาชิกเฟดให้ความเห็นที่ชะลอคาดการณ์ของตลาดในการขึ้นดอกเบี้ย สมาชิกเฟด คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์คาดการณ์ถึงการลดคิวอีในเดือนหน้าแต่การขึ้นดอกเบี้ยยังต้องใช้เวลา สอดคล้องกับแรนดัล ควอลส์ แสดงความเห็นด้วยกับการลดคิวอีในเดือนหน้า แต่ยังมองว่าปัจจัยต่างๆ ยังไม่เพียงพอต่อการขึ้นดอก อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อสูงกว่า 4% ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า เฟดอาจต้องพิจารณานโยบายการเงินใหม่อีกครั้ง ด้านประธานเฟดคลีฟแลนด์ ลอเรตต้า เมสเตอร์ ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในปีหน้า แต่เฟดจะติดตามและควบคุมอย่างใกล้ชิด

ทางฝั่งยุโรป ลาการ์ดย้ำว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังประเมินว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราวและจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับการว่างงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซในยุโรปพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่รัสเซียยังจำกัดการส่งออกในเดือนหน้า จากผลการประมูลก๊าซในเดือนพฤศจิกายนที่รัสเซียไม่ได้ส่งสัญญาณการเพิ่มการส่งออกก๊าซให้ยุโรป แม้ก่อนหน้านี้ปูตินจะกล่าวว่าพร้อมส่งมอบก๊าซให้ยุโรปเพิ่มเติม ทั้งนี้ รัสเซียส่งสัญญาณจะส่งก๊าซให้ยุโรปเพิ่มเติมผ่านทางท่อนอร์ดสตรีม 2 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการอนุมัติจากยุโรป ในขณะที่รัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบียระบุว่าโอเปกพลัสจะไม่ดำเนินการใดๆ ต่อราคาก๊าซที่อยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันอาจเพิ่มขึ้นอีก 5-6 แสนบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากฤดูหนาวที่มาก่อนกำหนดจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านเอเชีย ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ลงเหลือ 6.5% จาก 7.6% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าเพิ่มเป็น 5.7% จาก 5.3% โดยระบุว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากจีดีพีจีนในไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาด เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 0.2%QoQ SA และ 4.9%YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 0.4%QoQ SA และ 5.0%YoY ตามลำดับ ทำให้เศรษฐกิจจีนนับตั้งแต่ต้นปีนี้เติบโต 9.8%YoY เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเผชิญกับภาวะชะงักงันด้านอุปทาน การขาดแคลนพลังงาน และมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมถึงประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนระบุว่าความเสี่ยงที่เกิดจากเอเวอร์แกรนด์สามารถควบคุมได้

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.38 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของปี 2020 มาอยู่แถวระดับ 1.19% ในขณะที่ตลาดฟิวเจอร์โดย FED Fund Future ได้ขยับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps จะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนกันยายนของปี 2022 ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนมุมมองที่นักลงทุนมีต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องติดตามคือการประชุมเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากนักลงทุนจะได้ทราบข้อมูลที่แน่ชัดถึงรายละเอียดของการปรับลดคิวอี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางของตลาดตรสารหนี้ในระยะต่อไป

ติดตามนโยบายการเงินของอีซีบีและบีโอเจ และจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ยังคงเคลื่อนไหวตามปัจจัยในต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นตลอดอายุของพันธบัตร โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลที่เป็น Benchmark รุ่นอายุ 15ปี ผลออกมาค่อนข้างกว้างที่ 2.52-2.59% และ Bid coverage ratio 1.54 เท่า สะท้อนถึงอุปสงค์จากนักลงทุนภายในประเทศยังคงเบาบาง ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 1,474 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,510 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,984 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.71% 0.91% 1.24% 1.65% และ 2.03% ตามลำดับ