posttoday

บทบาทของตัวเราและตัวเขาในความท้าทายกับเศรษฐกิจปรวนแปร

18 ตุลาคม 2564

ประเทศจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพียงใดขึ้นกับคุณภาพของ ‘สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ’ ได้รับใช้หรือดูแลประชาชนส่วนใหญ่เพียงใด

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 44/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร

มีคำกล่าวของผู้นำความคิดในสังคมไทยท่านหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความเคารพนับถือ?เป็นอย่างมากได้กล่าวไว้ว่า "ประเทศจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพียงใดขึ้นกับคุณภาพของ ‘สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ’ หรือ “กลไกภาครัฐ” และ “กลไกตลาด” ได้รับใช้หรือดูแลประชาชนส่วนใหญ่เพียงใด และที่สำคัญ การพัฒนาจะยั่งยืนเพียงใดขึ้นกับว่า ระบบสถาบันทั้งสองด้านเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน (Inclusive Institution)"

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อในกลไกตลาดสุดโต่งว่าบุคคลเวลาจะเข้าทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันภายใต้กฎหมายโดยยึดหลักเพียงว่า บุคคลมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญา และเขามีเพียงความสามารถตามหลักที่กฎหมายกำหนดคือไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ โดยขาดคำนึงถึง อำนาจต่อรองที่ไม่เท่ากัน การมีข้อมูลไม่เท่ากัน การเข้าถึงหัวใจหรือแก่นสาระของเรื่องที่จะตกลงกันมันไม่เท่ากัน การขาดทรัพยากรใดแง่ความรู้เรื่อง รู้จริง เข้าใจถึงผลที่จะตามมาหากลงนามในสัญญาแล้ว ท่านผู้อ่านก็คงจะเชื่อตามที่ผู้เขียนได้ระบุต่อไปว่า ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในสิ่งที่จะได้รับดอกผลจากการเข้าทำสัญญาดังกล่าวคงจะเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ในเรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างลูกหนี้รายย่อย SME?s กับฝั่งเจ้าหนี้คงจะไม่มีทางที่ทั้งสองฝ่ายจะถือสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกันแน่นอน ไม่อย่างนั้น หัวหอกของธนาคารกลางสายก้าวหน้าจึงไม่ลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง

1. การคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการชำระหนี้กรณีล่าช้า

2. ลำดับการตัดชำระหนี้จากที่เคยทำแบบแนวดิ่งคือ ตัดค่าธรรมเนียมก่อน ต่อด้วยดอกเบี้ย ตามด้วยเงินต้นเป็นลำดับสุดท้ายมาเป็น ตัดชำระหนี้ตามแนวขวางคือต้องเอาเงินที่รับชำระหนี้มากระจายตัดในสามส่วนนี้ทุกครั้ง ยอดหนี้จะได้ยุบลงมาบ้าง ดอกเบี้ยที่ตามมาจะได้น้อยลงตามลำดับ

3. เรื่องภาระผู้ค้ำประกัน ที่ต้องเข้ามาสอดรับความเสียหายในกรณีที่ลูกหนี้ทำไม่ได้ตามสัญญา

4. หลักการให้กู้ที่ผู้ให้กู้ต้องมีความรับผิดชอบ ในประเด็นนี้ผู้เขียนประทับใจแนวคิดที่ว่า เจ้าหนี้เมื่อจะตัดสินใจให้ใครกู้ยืมแล้วต้องคิดให้ออก บอกให้ได้ ทายให้ขาดว่า ชีวิตของลูกหนี้ต้องดีขึ้น เขาไม่ใช่ข้าทาสที่ต้องหาดอกมาจ่ายเท่านั้น แต่ตัวเขา ธุรกิจเขา ต้องไปต่อได้และดีขึ้น

ในการดำรงตนให้เกิดความก้าวหน้าในประการใดก็ตามไม่ว่าจะเป็น วิธีการทำงาน วิถีในการคิดและผลักดัน ล้วนต้องมีข้อขัดข้อง ข้อขัดแย้ง สร้างความไม่สบายตัวไม่สบายใจให้เกิดกับระบบที่คุ้นชิน คุ้นเคยกับการไม่มอง ไม่พยายามมอง ไม่คิดจะมอง ไม่อยากคิดที่จะมอง ที่เลวร้ายสุดคือ รู้ว่ามองแล้วมันคือสิ่งที่ถูกแต่เลือกที่จะไม่มอง แถมทำลืมว่าไม่เคยคิดในเรื่องนี้อีก คำถามคือ พฤติกรรมของระบบแบบนี้มันมาจากอะไร วิสัยทัศน์ ค่านิยม แก่นของใจที่อ่อนโยน เอื้ออาทรต่อคนที่ด้อยกว่าจึงได้ละทิ้ง แต่นำเอาสิ่งที่ผู้คนในยุคก่อนที่ได้วาง ทำและปูถนนทางเดินความคิดนั้นมาเป็นเกราะป้องกันตัวในการไม่คิดจะทำ เรียกว่าเอาบุญเก่ามาห่มกรรมใหม่ที่คิดจะทำในเวลาโรคห่ากินปอดคนทั้งเมืองเพลานี้...

ผมได้อ่านข้อความหนึ่งของผู้เขียนคนแปลท่านหนึ่งที่ชื่อ ขจรศักดิ์ จากการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กที่ได้กล่าวคำคมข้อคิดของท่านผู้เฒ่าแห่งกาลเวลา ซึ่งพูดถึงบุคคลต่าง ๆ ในท่ามกลางกระแสความแปรปรวน ยามศึกบ้านเมืองมีศึกสงครามในเวลาเฉกเช่นเวลานี้ว่า

"หากไร้ซึ่งความ "ซื่อสัตย์".......

"ฉลาด" ก็จะทำร้ายตัวเองในที่สุด

"ความสุข" จะอยู่ได้ไม่จีรัง

"ตำแหน่ง" อยู่ท่ามกลางเสียงสาปแช่ง

"แข่งขัน" ก็จะเป็นได้แค่ผู้พ่ายแพ้

สุดท้ายแล้ว ... มีแต่ความ "ซื่อสัตย์" เท่านั้น

ที่จะคงความเป็นอมตะนิรันดร์

บทบาทของตัวเราและตัวเขา เพื่อนของเรา พี่พ้องน้องพี่รอบตัวเรา ในความท้าทายกับเศรษฐกิจปรวนแปร เราเลือกที่จะเป็นใคร แบบไหน ส่วนของผู้เขียน?ขอทำหน้าที่ซื่อสัตย์ ใน core value ขององค์กรที่ผู้เขียนสังกัด ไม่มีทางใช้ความผฉลาดเพื่อเป็นเพียงผู้ชนะในการแข่งขันของตำแหน่งแห่งที่ ที่อกุศลจิตนำพาไป

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ