posttoday

ติดตามการส่งออกไทยและจีดีพีจีน

18 ตุลาคม 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือตัวเลขส่งออกของไทยที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือตัวเลขส่งออกของไทยที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ท่ามกลางค่าขนส่งที่อยู่ในระดับสูง ภาวะคอขวดในภาคอุปทาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัว 12.35%YoY ในเดือนกันยายน จาก 8.93%YoY ในเดือนสิงหาคม และคาดการณ์ว่าการนำเข้าในเดือนกันยายนจะขยายตัวชะลอลงที่ 33.3%YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.92%YoY นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าดุลการค้าจะติดลบ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน จาก 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า

ทางด้านจีนจะเปิดเผยจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโต 0.4%QoQ เนื่องจากการชะลอตัวภาคธุรกิจและการจ้างงาน ด้วยความกังวลด้านประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ทางฝั่งอเมริกา ต้องติดตามการเปิดเผยรายงานเศรษฐกิจของเฟด ซึ่งจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจในเชิงลึกรวมถึงคาดการณ์ของเฟดในอนาคตด้วย

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศจะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนเข้าประเทศในปีนี้ทั้งหมดมากกว่า 170 ล้านโดส นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ปรับลดพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 23 จังหวัด จากเดิม 29 จังหวัด และปรับลดเคอร์ฟิวลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศทางตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย แม้ว่าไอเอ็มเอฟจะปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.0 % และปีหน้าลงเหลือ 4.5% จากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 2.1% และ 6.1% ตามลำดับ เนื่องจากการแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรง นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุดระบุว่าการลดดอกเบี้ยไม่มีประสิทธิผลเท่านโยบายการเงินแบบตรงจุด และสนับสนุนขยายกรอบหนี้สาธารณะเพื่อให้ภาครัฐยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ต้องมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

ด้านสหรัฐฯ รายงานการประชุมเฟดส่งสัญญาณเริ่มลดคิวอีในกลางเดือนพฤศจิกายนหรือกลางเดือนธันวาคม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวตามคาดการณ์ โดยการลดคิวอีนี้เหมาะสมที่จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางปีหน้า สำหรับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนสูงกว่าคาดเล็กน้อย เนื่องจากราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวตามคาดการณ์ นอกจากนี้ รายงานการประชุมเฟดระบุถึงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจอยู่ยาวนานและไม่ใช่เพียงปัจจัยชั่วคราว ทำให้เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นนี้สนับสนุนการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ในขณะที่สมาชิกเฟดสนับสนุนการลดคิวอีในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ย ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการจ้างงานในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 1.94 ตำแหน่ง แม้จะต่ำกว่าคาดที่ 5 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานลดลงจาก 5.2% เป็น 4.8% บรรลุเป้าหมายของเฟด ณ สิ้นปีแล้ว

ฝั่งยุโรป นักนโยบายอีซีบียังคงถกเถียงกันในเรื่องเงินเฟ้อและมาตรการคิวอี โดยลาการ์ดย้ำว่าอย่าตื่นตระหนกกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่าจะคงมาตรการคิวอีต่อไปและจะไม่ถอนออกก่อนกำหนด ซึ่งสมาชิกอีซีบี โอลลิ เรนห์ สนับสนุนลาการ์ด โดยมองว่าควรคงมาตรการคิวอีต่อไป แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีแต่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สมาชิกอีซีบี คลาวส์ น็อต ระบุว่ามีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากการชะงักงันภาคอุปทาน ในขณะที่ตลาดยังคงจับตามองเงินเฟ้อยุโรปที่อยู่ในระดับสูงและคาดการณ์ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีหน้า นอกจากนี้ ความตึงเครียดด้านพลังงานของยุโรปมีแนวโน้มผ่อนคลายลงเล็กน้อย หลังประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูตินระบุว่าพร้อมจะส่งก๊าซให้ยุโรปมากเท่าที่ต้องการ

ด้านเอเชีย การส่งออกจีนเดือนกันยายนขยายตัวดีกว่าคาดการณ์ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ด้านการส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ ขยายตัว 30.6 %YoY ซึ่งอาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในการประชุมระหว่างสองฝ่าย จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกกำแพงภาษี ในขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนหยุดอุดหนุนสินค้าภายในประเทศและดำเนินการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมก่อน จึงจะพิจารณาการพูดคุยในลำดับถัดไป ในขณะเดียวกัน สีจิ้นผิงประกาศว่ารวมไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่อิงเหวินกล่าวว่าจะไม่ยอมจำนนต่อจีน แต่เสนอการพูดคุยอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ จีนยังเผชิญความกังวลจากการผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่ 3 ของเอเวอร์แกรนด์ในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณลบต่อภาคธุรกิจจีนโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ภาครัฐจีนจะออกมากล่าวว่าความเสี่ยงจากประเด็นดังกล่าวสามารถควบคุมได้ ด้านญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 31 ตุลาคม เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้มาจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบัน คิชิดะยังได้รับคะแนนนิยมข้างมากจากประชาชน และมีแนวโน้มได้รับเสียงข้างมากในสภาด้วย

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.31 ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวโดยมีความชันลดลง (Flattening) กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง ซึ่งตัวเลขหนึ่งที่นักลงทุนดูคือ spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงมาประมาณ 10 bps มาอยู่แถวบริเวณ 119 bps ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนสูงกว่าคาดเล็กน้อยที่ 0.4%MoM และ 5.4%YoY เทียบกับคาดการณ์ที่ 0.3%MoM และ 5.3%YoY ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับรายงานการประชุมเฟดที่ระบุถึงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจอยู่ยาวนานและไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ทำนักลงทุนมีความกังวลว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้พันธบัตรระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงนั่นเอง

ติดตามการส่งออกไทยและจีดีพีจีน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นแรงซื้อ ณ ระดับปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางของค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นแรงเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ภายหลังจากที่เงินทุนไหลออกสุทธิกว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 4,224 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,835 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,219 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 830 ล้านบาท ขณะที่ประเด็นสำคัญอื่นๆ มีการเปิดเผยรายงานการประชุม กนง. ระบุว่าการลดดอกเบี้ยไม่มีประสิทธิผลเท่านโยบายการเงินแบบตรงจุด ถือเป็นการย้ำถึงโอกาสที่ กนง. จะลดดอกบี้ยลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบันน่าจะเป็นไปได้ยาก โดย ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.64% 0.86% 1.17% 1.61% และ 1.98% ตามลำดับ