posttoday

3 คำถามยอดฮิตเรื่องการลงทุน

04 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง โพสต์ทูเดย์

30 กันยายน 2564 

BF Knowledge Tips: 3 คำถามยอดฮิตเรื่องการลงทุน

อรพรรณ บัวประชุม CFP®

กองทุนบัวหลวง

ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุน ก็จะมีคำถาม ถามกันอยู่เสมอ คราวนี้ มาลองดูกันว่า 3 คำถามยอดฮิต เรื่องการลงทุนมีอะไรกันบ้าง เริ่มด้วยคำถามแรก

ลงทุนตามเพื่อนดีมั้ย?อย่างแรกเลยเราต้องสำรวจตัวเราก่อนว่า เราทำตามเขา แล้วเราเหมือนเขารึเปล่า จากนั้นเราก็ค่อยมาดูว่า เพื่อนเราคนนั้นลงทุนเองมั้ย หรือไปลอกเพื่อนมาอีกที แล้วเราลอกเพื่อนเราอีก นี่ลอกกัน 3 ต่อ 4 ต่อเลยนะคะ ที่สำคัญ เพื่อนเรามีความรู้เรื่องการลงทุนมั้ย ถ้าเพื่อนเรามีความรู้เรื่องการลงทุน ก็อาจจะสามารถแนะนำเราได้บ้าง มากไปกว่านั้น หากเราลงทุนตามเพื่อนแล้วผิดทาง เราจะโกรธเพื่อนเรามั้ย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะคิดแต่ว่าลงทุนแล้วต้องได้กำไร  แต่ถ้าขาดทุน เราจะโทษเพื่อนเราหรือเปล่า หรือโทษตัวเอง

เพราะการลงทุนไม่ใช่ว่า จะกำไรตลอดหรือขาดทุนตลอด เหมือนกับการแข่งขันกีฬาที่มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง การลงทุนก็เช่นเดียวกันมีโอกาสทั้งกำไร ทั้งขาดทุน ซึ่งการที่เพื่อนของเราลงทุน เราไม่รู้หรอกว่า เขาเคยเจ็บตัวมากี่ครั้งแล้ว หรือกำไรไปแล้วเท่าไหร่ เราลงทุนตาม เราอาจจะขาดทุน แต่เพื่อนเราอาจจะกำไรก็ได้ เพราะเขามีต้นทุนที่ต่ำกว่าเรา แม้ว่าจะลงทุนวันเดียวกับเราด้วย เพราะมีต้นทุนครั้งก่อนๆ ที่ต่ำกว่าเรา

ดังนั้น หากจะลงทุนตามเพื่อน อย่าลืมดูว่า เรารับความเสี่ยงได้เท่าไหร่  เงินลงทุนเรามีมากน้อยเท่าไหร่สำหรับการลงทุนครั้งนี้ ระยะเวลาที่เราลงทุนได้นานมั้ย ถ้าเพื่อนลงทุนได้นาน แต่เราบอกว่า ลงทุนได้นานแค่ 6 เดือน การลงทุนของเรากับของเพื่อนอาจจะไม่เหมือนกัน หากลงทุนแล้วไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เราจะทำอย่างไร สิ่งนี้ต้องคิดเผื่อด้วย เพราะเราต้องเป็นคนตัดสินใจเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง

อายุเข้าเลข 4 แล้ว ลงทุนตอนนี้ยังทันมั้ย? ไม่มีคำว่าสายไปสำหรับการลงทุนค่ะ เพียงแค่เสียดายช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ที่เรามีโอกาสลงทุนแต่ไม่ได้ลงทุน และอีกอย่างนึงก็คือ เมื่อเราอายุมากขึ้น มีภาระ มีความรับผิดชอบมากขึ้น เราอาจจะไม่สบายใจกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ด้วยช่วงอายุแบบนี้ การเริ่มต้นลงทุนที่เหมาะสม จึงต้องจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับแต่ละเป้าหมายของเรา และถ้าไม่มีเงินเก็บเลย จะต้องใช้เงินลงทุนมากหน่อยเพื่อให้โอกาสเงินลงทุนเติบโต อย่างเช่น เป้าหมายเรื่องเงินก้อนที่เราต้องการไว้ใช้หลังเกษียณ เราจะเกษียณ 60 เท่ากับยังมีเวลาให้เราลงทุนได้มากกว่า 10 ปี พอร์ตนี้ เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ และค่อยๆ ทยอยปรับพอร์ตเมื่อเราอายุมากขึ้น ระยะเวลาในการลงทุนคงเหลือลดลง

ส่วนใครที่มีลูกและยังศึกษาอยู่ เราอาจจะมีความกังวลเรื่องค่าเทอมลูก ในส่วนนี้ก็แยกอีกพอร์ตนึงสำหรับเป็นค่าการศึกษาลูก สินทรัพย์ที่ลงทุนอาจจะไม่ต้องเสี่ยงสูงมาก เพราะต้องใช้จ่ายปีละ 2-3 ครั้ง ซึ่งถ้าในช่วง 1-2 ปีแรก เราสามารถใช้เงินจากการทำงานจ่ายได้ ในช่วงที่รอจ่ายก็มาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ในส่วนที่จะลงทุนเป็นทุนการศึกษาลูกก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนผสมเพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินเติบโต และอย่าลืมดูด้วยว่า เงินที่เราลงทุนทิศทางเป็นไปอย่างที่เราตั้งใจมั้ย ถ้าไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ ต้องดูว่า จะปรับสัดส่วนการลงทุนยังไงได้บ้าง

ส่วนใครที่ยังไม่เลข 4 แค่เลข 3 ต้นๆ ก็อย่ารอให้ต้องมาถามคำถามนี้ในอนาคตค่ะ เริ่มลงทุนกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้มีทางเลือกสำหรับการลงทุนได้เยอะๆ และมีระยะเวลาลงทุนได้นานๆ

ซื้อกองทุนเต็มไปหมด จัดการยังไงดี?นี่เป็นอีกปัญหาสำหรับใครที่ลงทุนเยอะแยะไปหมด ลงทุนไว้หลากหลายบลจ. หลากหลายนโยบายกองทุน และไม่รู้ว่านโยบายซ้ำกันบ้างมั้ย เพราะชื่อกองทุนไม่เหมือนกัน อย่างในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีเหตุรีบร้อนลงทุน เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายลดหย่อนภาษี ซื้อหลายเจ้า นโยบายกองทุนใกล้เคียงกัน หรือลงทุนในกองทุนเปิดหลายที่ ที่ไหนเชียร์และเราเห็นว่า น่าสนใจก็ซื้อ จนมารู้ตัวอีกทีก็มีหลายกองทุนมากๆ เป็น 20-30 กองทุน ถ้าให้ดี การจัดกลุ่มกองทุนไว้ จะช่วยให้เรารู้ว่า เรามีกองทุนที่ลงทุนในอะไร สัดส่วนการลงทุนในกลุ่มนั้นเป็นเท่าไหร่ จะได้เห็นชัดๆ ว่า เราลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้มากน้อยไปแล้วหรือยัง หากจะลงทุนเพิ่ม ควรเพิ่มการลงทุนในกลุ่มไหน

เราอาจจะใช้ Application เพื่อจัดกลุ่มกองทุนที่เราลงทุนไว้ทั้งหมด หรืออาจจะทำเองด้วย Excel ง่ายๆ แบ่งก่อนว่ามีกี่บลจ. จากนั้น ก็เรียงตามระดับความเสี่ยง เริ่มจากเสี่ยงต่ำไปเสี่ยงสูง เมื่อทำครบทุกบลจ.แล้ว ก็มารวมทั้งหมดอีกครั้งว่า เรามีกองทุนที่มีนโยบายใกล้เคียงกันกี่กองทุนแล้วลงทุนเป็นกี่ % เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นไทยทั้งหมด 6 กองทุน กับ 5 บลจ. ก็มาจัดกลุ่มเดียวกัน และดูว่าทั้ง  6 กองทุนนี้ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมดกี่ % ที่เราลงทุนไปทั้งหมด จะได้รู้ว่า เราลงทุนในสินทรัพย์ไหน มากน้อยยังไง จะได้ปรับสัดส่วนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

หรืออย่างกองทุนประเภท RMF ที่เราลงทุนมานานหลายปีแล้ว มีหลากหลายนโยบาย หลากหลายบลจ.มาก ก็เอามากรุ๊ปไว้ด้วยกัน เช่น กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ แบ่งเป็นประเทศอะไรบ้าง กองทุนนวัตกรรม ฯลฯ จะได้เห็นว่า กองทุนที่เราตั้งใจลงทุนสำหรับเป้าหมายเกษียณ ตอนนี้ สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร เช่น รวมแล้ว มีกองทุนหุ้นไทย 30% กองทุนหุ้นจีน 20% (ในนี้ อาจจะมีทั้งลงทุนเฉพาะจีน A Share, H Share, All China ก็เรียงตามลำดับ) กองทุนหุ้นทั่วโลก 20% กองทุนทองคำ 10% กองทุนหุ้นนวัตกรรม 20%  เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว จะได้ดูว่าจะปรับอะไรมากขึ้น หรือปรับอะไรลดลง กองทุนไหนที่ขึ้นแรงลงแรง ถ้าระยะเวลาการลงทุนเราเหลือน้อยลง จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของเราแบบไหนเพื่อลดความเสี่ยง