posttoday

ค่าเงินบาท ติดตามตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ

04 ตุลาคม 2564

ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนกันยายน ซึ่งจะประกาศในวันศุกร์นี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-34.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนกันยายน ซึ่งจะประกาศในวันศุกร์นี้ จะส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะถัดไป โดยตลาดคาดการณ์ว่าการจ้างงานในเดือนกันยายนจะเพิ่มขึ้น 5 แสนตำแหน่ง และคาดการณ์ว่าการจ้างงานจะลดลงเหลือ 5.0% จาก 5.2% ในเดือนก่อนหน้า ด้านยุโรปจะมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเดือนกันยายน ซึ่งส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะคงอยู่ในระดับเหนือกว่า 50 สะท้อนการขยายตัวของภาคธุรกิจ ด้วยแรงหนุนจากการกระจายวัคซีน

ด้านไทยจะมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายน ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเห็นการเร่งตัวขึ้น ภายหลังจากที่เงินเฟ้อสิงหาคมติดลบเล็กน้อยและต่ำกว่าคาดการณ์ โดยดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนไปสู่ดัชนีราคาผู้บริโภค ส่งสัญญาณถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยหอการค้าไทยในเดือนกันยายน เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนสิงหาคมทรุดตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 1998

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564 เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่องจากสัญญาณสนับสนุนการลดคิวอีในเร็วๆนี้ของเฟด รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ด้านโพเวลยอมรับว่าเงินเฟ้ออาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากภาวะคอขวดของภาคอุปทาน แต่คาดการณ์ว่าจะชะลอลงในครึ่งแรกของปีหน้า ในขณะที่ความกังวลต่อกรอบหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ลดลง ภายหลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักของภาครัฐ โดยงบประมาณระยะสั้นนี้จะเพียงพอจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการประกาศครั้งที่สามของจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.7% จาก 6.6% ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มทรงตัว โดยการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อย นอกจากนี้ ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายลง ภายหลังจากแคนาดาปล่อยตัวเมิ่งหว่านโจว ผู้บริหารระดับสูงและลูกสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ยกลับสู่ประเทศจีน หลังจากถูกจับกุมตั้งแต่ธันวาคม 2018

ด้านยุโรป ลาการ์ดระบุว่าอีซีบีจะไม่รีบดำเนินการต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยจะค่อยๆปรับนโยบายการเงินในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงสิ้นปีนี้ ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

ทางฝั่งเอเชียยังคงเผชิญความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ทำให้ธนาคารกลางจีนต้องอีดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง ในขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียยังคงอยู่จากการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ทางด้านญี่ปุ่น คิชิดะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแอลดีพี และเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนถัดไป ซึ่งรัฐสภาญี่ปุ่นจะมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไปอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคมนี้

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงและผันผวนมาก ด้วยแรงกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ท่ามกลางเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย แม้รัฐบาลไทยประกาศคลายการปิดเมืองเพิ่มเติมในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ด้าน ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามคาด รวมทั้งคงคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ที่ 0.7% และปรับเพิ่มจีดีพีในปีหน้าเป็น 3.9% พร้อมทั้งคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดการณ์ว่าในปีหน้าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคมได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนสิงหาคมขาดดุลมากกว่าคาดการณ์ เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลลดลง จากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าการนำเข้า นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมในภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศด้วย ด้านธนาคารโลกลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้เป็น 1.0% จาก 2.2% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรง การผ่อนคลายปิดเมืองที่ล่าช้า และประเมินว่าไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.63 ในวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่อัตราผลตอบแทนทะลุแนวรับแถวบริเวณ 1.37% ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวไปทำจุดสูงสุดของสัปดาห์ที่บริเวณ 1.56% โดยปัจจัยสนับสนุนหลักเป็นผลต่อเนื่องจากการประชุมของเฟดที่ออกมาในโทน Hawkish มากกว่าที่ตลาดคาด รวมไปถึงประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นชั่วคราวนั้น คุณโพเวลก็ออกมายอมรับว่าเงินเฟ้ออาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากภาวะคอขวดของภาคอุปทาน เป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดคาดการณ์ว่าช่วงเวลาของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจจะมาเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการออกมาให้ความเห็นของสมาชิกเฟดหลายๆท่าน มีความเห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่เฟดจะต้องเริ่มลดคิวอีในเร็ววันนี้แล้ว เป็นปัจจัยกดดันตลาดพันธบัตรในระยะนี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ โดยนอกเหนือจากปัจจัยจากต่างประเทศแล้ว ก็มีปัจจัยภายในประเทศคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ซึ่งถือว่าผิดไปจากที่ตลาดคาดหวังเล็กน้อยเนื่องจากคณะกรรมการที่เคยโหวตลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งก่อน 2 ท่านได้กลับมาโหวตคงอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ภาพที่นักลงทุนหวังถึงการลดดอกเบี้ยได้จางหายไป ประกอบกับมุมมองที่ยังคงคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ที่ 0.7% และปรับเพิ่มจีดีพีในปีหน้าเป็น 3.9% ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรรัฐบาลไทยออกมา ส่งผลให้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.58% 0.72% 1.03% 1.48% และ 1.88% ตามลำดับ

ค่าเงินบาท ติดตามตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 8,905 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 437 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 859 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 8,483 ล้านบาท