posttoday

เพราะเหตุใดถึงต้องมีกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

28 กันยายน 2564

ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวยังดำรงอยู่ได้ ในการช่วยเหลือในระยะต่อไปนี้ จึงควรที่จะออกมาตรการเพื่อเน้นการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (Targeting) ให้มากขึ้น

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th ; [email protected] 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละระลอกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล โดยจากบทความที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ระบุว่า การแพร่ระบาดได้ส่งผลต่อการลดลงของรายได้ประชาชาติประมาณร้อยละ 13.66 ( https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/656115 ) โดย จากงานศึกษาในชุดโครงการ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” (ที่มีผมเป็นหัวหน้าชุดโครงการ) ซึ่งงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจาก “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. – กลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์)” จากการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของไทย (ในระลอกแรกและระลอกที่สอง) พบว่า การระบาดได้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด (เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อสาขาอื่นๆ) โดยเฉพาะ 1) สาขาที่พัก อาหาร และบริการ (หดตัวร้อยละ 45.7-67.2), 2) สาขาสันทนาการ (หดตัวร้อยละ 29.4-41.4), 3) สาขาการขนส่งทางอากาศ (หดตัวร้อยละ 19.6-32.1), 4) สาขาการค้าปลีกค้าส่ง (หดตัวร้อยละ 15.5-22.8), และ 5) สาขาเครื่องดื่ม (หดตัวร้อยละ 14.6-22.1) ตามลำดับ

ในขณะเมื่อดูในฝั่งของผลกระทบทางด้านการจ้างงานพบว่า แรงงานในอุตสาหกรรมการบริการอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบสูงสุด คาดว่าจะมีแรงงานว่างงานประมาณ 1.12 ล้านคน (และคาดว่ารายได้จากการทำงานจะลดลงสูงถึงร้อยละ 46.08) ขณะที่ แรงงานในอุตสาหกรรมการที่พักแรม และการขนส่งทางอากาศ คาดว่าจะมีผู้ว่างงานราว 1.65 แสนคน และ 1.13 หมื่นคน ตามลำดับ (และรายได้จากการทำงานคาดว่าจะลดลงร้อยละ 46.08 และร้อยละ 20.12 ตามลำดับ)

ดังนั้นด้วยสาเหตุดังกล่าว เมื่อไปดูที่ผลกระทบต่อความยากจน ครัวเรือนที่มีสมาชิกทำงานในภาคการท่องเที่ยวกลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นของคนที่มีฐานะยากจนสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกทำงานในภาคการท่องเที่ยวมาก โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกทำงานในภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนคนจนรวม 2.5 ล้านคน เพิ่มจากปีฐานในอัตราร้อยละ 163.37

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อโครงการศึกษาได้ทำการประเมินว่า ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวนั้นได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากน้อยเพียงใด ทางทีมวิจัยเรากลับพบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงโครงการเงินกู้ Soft Loan ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กและต้องประสบปัญหาจากช่วยโควิด-19 จึงทำให้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ประกอบกับทางสถาบันการเงินเองก็กลัวว่าถ้าปล่อยสินเชื่อไปก็อาจจะเกิดหนี้เสียได้ จึงทำให้การขอสินเชื่อจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้นไม่ได้รับการอนุมัติมากเท่าที่ควร

นอกจากนั้น ในฝั่งของแรงงานเอง งานศึกษาวิจัยยังพบว่า มีแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเพียงร้อยละประมาณ 40 ที่ได้รับมาตรการเยียวยาชั่วคราวจากโครงการของรัฐ ในขณะที่แรงงานถึงร้อยละ 90 ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและคิดว่าการช่วยเหลือชั่วคราวไม่เพียงพอ

เนื่องจากการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายมาที่ภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้น หากภาครัฐใช้หลักการของความเสมอภาค (Equity) แล้วนั้น ภาคการท่องเที่ยวจึงควรที่จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยจากผลการสำรวจพบว่า สาขาการท่องเที่ยวที่ควรได้รับการเยียวยาเรียงตามลำดับความเร่งด่วน คือ 1) ธุรกิจนันทนาการ, 2) ธุรกิจนำเที่ยว, 3) ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม, 4) ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก, 5) ธุรกิจโรงแรมและที่พัก และ 6) ธุรกิจการขนส่ง ตามลำดับ และเนื่องจากผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจที่มีขนาดเล็กและมีลูกจ้าง 1-20 คนเป็นกลุ่มที่จะสูญเสียรายได้และมีแนวโน้มที่จะปิดกิจการสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ธุรกิจขนาดเล็กยังมีแรงงานที่ตกงานมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงควรเน้นการเยียวยาในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นอันดับแรก

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวยังดำรงอยู่ได้ ในการช่วยเหลือในระยะต่อไปนี้ จึงควรที่จะออกมาตรการเพื่อเน้นการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (Targeting) ให้มากขึ้น โดยวิธีการหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือคือ “การจัดกองทุนช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว” เนื่องจากการพึ่งพาเพียงการปล่อย Soft Loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ และให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ในการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในภาวะวิกฤตนี้ เนื่องจากธุรกิจที่ได้รับอนุมัติเงินกู้คือธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว ในขณะที่ ผู้ประกอบการรายย่อยมีข้อจำกัดด้านหลักทรัพย์ค้ำประกันและความยั่งยืนของกองทุนที่มีข้อจำกัด

ทั้งนี้ในการบริหารจัดการกองทุนควรพิจารณากำหนดหน้าที่หลัก (Priority) ของกองทุน เช่น 1) เพื่อการเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือ 2) เพื่อการปรับโครงสร้างของธุรกิจเพราะหน้าที่ที่แตกต่างกันก็จะมีตัวชี้วัด (KPI) และวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยในกรณีกองทุนมีวัตถุประสงค์สำหรับการช่วยเหลือระยะสั้นต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการจัดตั้งกองทุนจะต้องเร่งกระบวนการให้เกิดการช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ภายใต้วิกฤตภายในระยะเวลา 3-6 เดือน

ทั้งนี้ ผู้บริหารกองทุนจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การไม่ได้รับเงินคืน หากเป้าหมายของกองทุนเน้นที่ Loan Repayment Rate ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการการตรวจสอบและกำกับติดตาม (Monitoring System) การชำระหนี้ที่เป็นระบบ เช่น ใช้ระบบของการปล่อยกู้แบบกลุ่ม (Group Lending) ที่ใช้ในระบบการเงินรายย่อย (Microfinance) นอกจากนี้ยังต้องมีการประเมินความเสี่ยงว่าความเสี่ยงเท่าใดจึงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในภาวะที่ไม่ปกติ โดยแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของกองทุนก็คือ การกำหนดกิจกรรมที่จะใช้กองทุนนั้น เช่น เน้นการให้การสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของธุรกิจเพื่อนำมาสู่การกลับเข้ามาประกอบ เช่น ปรับปรุงระบบเครื่องปรับอากาศ, การปรับปรุงห้องน้ำ, การปรับปรุงอาคารสถานที่, และการฟื้นฟูธุรกิจให้รองรับมาตรฐานสาธารณสุขหลังการเปิดบริการ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นการใช้จ่ายเฉพาะเช่นนี้ ควรมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องจากมีช่องทางการขอรับการสนับสนุนโดยเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กระทรวงพลังงานที่มีกองทุนช่วยเหลือการติดตั้งระบบแอร์แบบประหยัดไฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุนที่จัดตั้งควรจัดทำฐานข้อมูลรวบรวมกลุ่มธุรกิจขนาดต่างๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในรูปของ Digitalization ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจแต่ละขนาดอาจมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน กองทุนอาจจะเป็นไปในลักษณะแพลตฟอร์มของการรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการเพื่อทำให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น และเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มไปเป็นกองทุนเฉพาะในระยะยาวได้ กองทุนควรมีการพิจารณาจัดทำฐานข้อมูล (Database) สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในภาคการท่องเที่ยวที่เน้นการจัดการข้อมูลธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาในภาคท่องเที่ยว ตั้งแต่การสร้างกองทุนช่วยเหลือเพื่อเน้นการกำกับดูแล ในแต่ละกิจการว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติในระดับต่างๆ มากน้อยเพียงใด ภาครัฐและองค์กรเอกชนสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

จากข่าวล่าสุด ได้มีการเสนอการจัดตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านบาทผู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนทุกวันนี้ผ่านมาเกือบ 10 เดือน กองทุนดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น (ข่าวแจ้งว่า เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง) ด้วยเหตุและผลของบทความที่เขียนนี้ ก็หวังว่ากองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวนี้จะ “ถูกผ่าคลอด” ออกมาได้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวไทย และเพื่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว