posttoday

ติดตามเงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นสหรัฐฯ

13 กันยายน 2564

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นที่ต้องติดตามทางฝั่งสหรัฐฯ

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นที่ต้องติดตามทางฝั่งสหรัฐฯ คือการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่มีนัยถึงการดำเนินนโยบายในขั้นถัดไปของเฟด ภายหลังจากที่การจ้างงานนอกภาคเอกชนในเดือนสิงหาคมต่ำกว่าคาด รวมถึงยอดค้าปลีกที่มีแนวโน้มหดตัวลงจากความกังวลที่มีต่อสายพันธุ์เดลต้า นอกจากนี้ ตลาดยังจับตามองดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เบื้องต้นเดือนสิงหาคม โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มีคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวขึ้น ภายหลังจากที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีในเดือนก่อนหน้า

ทางด้านเอเชีย จีนจะประกาศยอดค้าปลีกในเดือนสิงหาคมซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ธนาคารกลางจีนจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ซึ่งคงไว้ที่ 2.95% เป็นระยะเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ด้านญี่ปุ่นจะเปิดเผยตัวเลขนำเข้าและส่งออกในเดือนสิงหาคมที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 6 - 10 กันยายน 2564 เงินบาทผันผวนต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลไทยประกาศคงมาตรการและเคอร์ฟิวถึง 30 กันยายนนี้ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ชะลอลง พร้อมทั้งเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพื้นที่ท่องเที่ยวชายทะเลเตรียม ในขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ เชียงราย เกาะช้าง และเกาะกูด เตรียมเปิดกลางตุลาคม รวมทั้งเตรียมทำ Travel Bubbles กับประเทศเพื่อนบ้านในปีหน้า นอกจากนี้ ภาครัฐยังยืนยันจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีแผนจะกู้เพิ่มเติม โดยรัฐบาลอนุมัติจ่ายเงินเยียวยา 2,500 บาทให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มเพิ่มอีก 1 เดือน

ด้านสหรัฐฯ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเพียง 2.35 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 7.33 แสนตำแหน่ง แต่มีการปรับปรุงตัวเลขในเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ความเป็นไปได้ของเฟดที่จะประกาศลดคิวอีในการประชุมเดือนนี้ลดน้อยลงมาก ในขณะที่สมาชิกเฟดหลายท่านยังยืนยันมุมมองสนับสนุนการประกาศลดคิวอีภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 5.2% จากเดือนก่อนที่ 5.4% ด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เยลเลนแสดงความกังวลว่าหนี้สาธารณะอาจเกินกรอบหนี้สาธารณะในเดือนตุลาคมนี้ และมีแผนที่จะขอยกเว้นหรือขอขยายกรอบ อย่างไรก็ตาม เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่าประเด็นกรอบหนี้สาธารณะจะไม่อยู่ในแผนร่างงบประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่คาดการณ์ว่าจะผ่านสภาคองเกรสภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้

ทางฝั่งยุโรป อีซีบีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณชะลอความเร่งในการซื้อสินทรัพย์ รวมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เป็น 5.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6% เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ด้านเงินเฟ้อ อีซีบียังคงมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่มีการปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 2.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.9% ในขณะที่ Brexit กลับมาเป็นประเด็น เนื่องจากอียูปฏิเสธที่จะเจรจาข้อตกลงอีกครั้ง ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรยื่นขอเจรจาในประเด็นไอร์แลนด์เหนือ ด้านสกอตแลนด์วางแผนจัดลงมติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรก่อนสิ้นปีหน้า

สำหรับความเคลื่อนไหวในเอเชีย ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.10% ตามคาดการณ์ และปรับลงวงเงินคิวอีต่อสัปดาห์ จาก 5 พันล้าน เหลือ 4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ แม้ว่าจะยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลต้า ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 4 ตุลาคม ภายหลังจากที่สุงะประกาศเตรียมวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ช้าและได้รับคำวิจารณ์อย่างหนักจากประชาชน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นขยายการปิดเมืองใน 19 จังหวัดไปจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนนี้

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.66 ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ โดยช่วงต้นสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นไปทดสอบแนวรับระยะสั้นแถวบริเวณ 1.38% จากปัจจัยสืบเนื่องจากตัวเลขการจ้างงาน อัตราค่าจ้างและอัตราว่างงานของสหรัฐ ที่ดูว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจลดคิวอีในปีนี้ ประกอบกับในระหว่างสัปดาห์มีอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการออกหุ้นกู้เอกชน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้สร้างปัญหาให้กับนักลงทุน เนื่องจากผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลยังคงมีแรงซื้อและออกมาค่อนข้างดี ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์อยู่แถวบริเวณ 1.32% ขณะที่ความคืบหน้าในฝั่งยูโรโซนทางอีซีบีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณชะลอความเร่งในการซื้อสินทรัพย์ โดยเราเห็นแรงเก็งกำไรในประเด็นดังกล่าวในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนี อายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ -0.50% ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม มาอยู่แถวระดับ -0.30% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่จะเห็นแรงปิดสถาณะ short ในวันที่การประชุมมีมติออกมาและส่งผลในผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนี อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงประมาณ 5 bps ในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตามในภาพใหญ่ของฝั่งยูโรโซน ก็ยังคงใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯที่ตลาดตราสารหนี้ยังคงถูกกดดันจากธีมของการปรับลดคิวอีในปีนี้นั้นเอง

ติดตามเงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นสหรัฐฯ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากแรงขายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตามปัจจัยกดดันของตลาดโลก ซึ่งดูกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 8,014 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,552 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,422 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 40 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 10 กันยายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.52% 0.59% 0.86% 1.23% และ 1.68% ตามลำดับ