posttoday

ผลกระทบของสายพันธุ์เดลต้าต่อตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม

30 สิงหาคม 2564

ตลาดเงินจะกลับมาสนใจผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกในเดือนสิงหาคมจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมาก

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.00 ในสัปดาห์นี้ หลังจากความเห็นของเจอโรม โพเวล ประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีที่แจ็คสัน โฮล ผ่านพ้นไป ประเมินว่า ตลาดจะกลับมาสนใจผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกในเดือนสิงหาคมจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เนื่องจากในเดือนดังกล่าวจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ประกาศในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีน สหรัฐฯ และเศรษฐกิจหลัก ขณะที่จำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เป็นตัวเลขสำคัญที่สะท้อนแนวโน้มการลดขนาดมาตรการคิวอีของเฟด

ด้านไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกรกฎาคม โดยเราประเมินว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันดุลบริการให้ขาดดุลในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่านำเข้าตามระบบศุลกากรที่ขยายตัวตามการส่งออก มีแนวโน้มกดดันดุลการค้าให้เกินดุลในระดับต่ำด้วย อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะให้น้ำหนักกับแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของไทยมากกว่า

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 23-27 สิงหาคม 2564 เงินบาทผันผวนอย่างมาก โดยเงินบาทแข็งค่าเกือบ 70 สตางค์ หลังจากที่ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ดีขึ้นและผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลง ส่งผลให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติผ่อนคลายการปิดเมือง โดยอนุญาติให้นั่งทานอาหารในร้านได้ เปิดห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม และสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ผ่อนคลายการรวมกลุ่มจากเดิมที่จำกัดไว้ที่ 5 คน เป็น 25 คน แม้จะยังคงเคอร์ฟิวในช่วงเวลาเดิม เนื่องจากภาครัฐมีการเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายจากการปิดเมืองเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 แทน ปัจจัยดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินบาทสูงขึ้น และทำให้นักลงทุนกลับสถานะ จากก่อนหน้านี้ที่มีปริมาณถือสถานะซื้อดอลลาร์ขายบาทมากที่สุดในรอบ 6 ปี

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุถึงความกังวลต่องานสัมมนาประจำปีแจ็คสันโฮล ที่โพเวล ประธานเฟด อาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับการลดขนาดมาตรการคิวอี อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากเงินทุนสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูงและดุลการชำระเงินที่ยังคงเป็นบวก

ด้านต่างประเทศ ธนาคารกลางหลักหลายแห่งส่งสัญญาณลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.75% จากเดิมที่ 0.50% เหนือความคาดหมายของตลาด ถือเป็นธนาคารกลางหลักแรกในเอเชียที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย สะท้อนว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยงด้านหนี้ที่อาจก่อให้เกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์มากกว่าความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ชี้ว่า มติการคงดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนเกิดจากความท้าทายด้านการสื่อสารมากกว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจ เนื่องจากมติที่ประชุมเกิดขึ้นวันเดียวกับที่ประเทศกลับเข้าสู่การปิดเมือง ธนาคารพิจารณาจะขึ้นดอกเบี้ย 50bps จากปัจจัยตลาดแรงงานและกำลังการผลิตที่ตึงตัว และเงินเฟ้อที่สูงเกินเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่มองการปิดเมืองไม่ได้กระทบต่ออุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ความเห็นดังกล่าวเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.63 ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อขายยังคงเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของเจอโรม โพเวล ในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสันโฮล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดในระยะต่อไป โดยสิ่งที่นักลงทุนมองหาคือคุณโพเวลจะเริ่มระบุช่วงเวลาที่เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินคิวอีหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว มีความเห็นของสมาชิกเฟดหลายท่านที่ออกมาสนับสนุนการลดคิวอีภายในปีนี้ ซึ่งหากมีการระบุเวลาของการลดคิวอีในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสันโฮล อาจจะเป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์ตลาดและกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากคุณโพเวลส่งสัญญาณที่จะรอดูการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไปอีกซักพัก รวมถึงระบุปัจจัยเสี่ยงของการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ต่อการตัดสินใจปรับลดคิวอี อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดพันธบัตรรัฐบาลต่อไป

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศที่ดูเหมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดมาได้แล้ว ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาคงเงินนำส่ง FIDF ในสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปก็ลดน้อยลงไปด้วย จึงทำให้เห็นแรงขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาบ้าง อย่างไรก็ตามจากภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวลำบาก ทำให้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกซักพักและทำให้การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นไปอย่างจำกัด โดย ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.46% 0.46% 0.50% 0.76% 1.13% และ 1.61% ตามลำดับ

ผลกระทบของสายพันธุ์เดลต้าต่อตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 23,619 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 18,201 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,419 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,001 ล้านบาท