posttoday

การประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19

22 มิถุนายน 2564

การประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาคจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนัยเชิงนโยบาย

คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์เงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ระดับซี 11) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์www.econ.nida.ac.th; [email protected]

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละระลอกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล โดยการกระทบนั้นได้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลายตามรายละเอียดที่ผมเคยเขียนมาก่อนดังนี้ https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/618563

งานศึกษาในชุดโครงการ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” (ที่มีผมเป็นหัวหน้าชุดโครงการ) ซึ่งงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจาก “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. – กลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์)” ในการทำการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของไทย โดยส่วนหนึ่งของชุดโครงการนี้ทางทีมวิจัยของเรา (ซี่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์, คุณทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์, คุณณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล, และ ดร.สยาม สระแก้ว) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Model) ประเภทแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium Model) เพื่อวิเคราะห์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคจากการระบาดในระลอกแรกและระลอกที่สอง

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อแสดงผลกระทบในรูปของมูลค่าเงิน (เหรียญสหรัฐ) การระบาดในระลอกแรกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีสวัสดิการสังคมลดลง 40,852 ล้านเหรียญ, GDP ลดลงร้อยละ 8.48, อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 3.19, ดุลการค้าลดลง 5,824 ล้านเหรียญ, รายได้ภาษีลดลงร้อยละ 11.39, การส่งออกลดลงร้อยละ 11.14, การนำเข้าลดลงร้อยละ 9.17, อัตราการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38, การบริโภคลดลงร้อยละ 13.56, การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33, อัตราค่าจ้างแรงงานทักษะและอัตราค่าจ้างแรงงานทักษะน้อยไม่เปลี่ยนแปลง (ตามข้อสมมติของแบบจำลอง) และราคาค่าเช่าทุนลดลงร้อยละ 0.59

ทั้งนี้เมื่อทำการจำแนกปัจจัยที่ส่งผล (Contribution) ต่อการหดตัวของเศรษฐกิจในระลอกแรกพบว่า การหดตัวของ GDP ที่ร้อยละ 8.48 นี้เกิดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยจากการประมาณพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลทำให้ GDP ของเศรษฐกิจไทยลดลงถึงร้อยละ 5.93 (จากร้อยละ 8.48) หรือคิดเป็นประมาณ 100x (5.93/8.48) = ร้อยละ 70 หรืออาจกล่าวได้ว่า การหดหายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการระบาดระลอกแรกส่งผลถึงร้อยละ 70 ต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจ รองลงมาได้แก่การลดลงของนักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 100x(1.40/8.48) = ร้อยละ 16.5 และปัจจัยทางด้าน Risk Premium ของประเทศที่วัดจากอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่ส่งผลต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกแรกประมาณ 100x (1.08/8.48) = ร้อยละ 12.7

ในขณะที่จากการประเมินผลกระทบจากการระบาดในระลอกที่สองพบว่าส่งผลให้ สวัสดิการสังคมลดลง 63,904 ล้านเหรียญ, GDP ลดลงร้อยละ 13.66, อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 5.09, ดุลการค้าลดลง 11,545 ล้านเหรียญ, รายได้ภาษีลดลงร้อยละ 17.87, การส่งออกลดลงร้อยละ 18.46, การนำเข้าลดลงร้อยละ 14.36, อัตราการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68, การบริโภคลดลงร้อยละ 21.14, การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77, อัตราค่าจ้างแรงงานทักษะและอัตราค่าจ้างแรงงานทักษะน้อยไม่เปลี่ยนแปลง (ตามข้อสมมติของแบบจำลอง) และราคาค่าเช่าทุนลดลงร้อยละ 0.94 จะเห็นได้ว่าทิศทางของผลกระทบต่อตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคในสถานการณ์ที่ 1 และสถานการณ์ที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับทุกตัวแปร ส่วนขนาดของผลกระทบในสถานการณ์ที่ 2 มีขนาดประมาณ 1.5 ถึง 2 เท่าของสถานการณ์ที่ 1

นอกจากนี้ เมื่อทำการจำแนกปัจจัยที่ส่งผล (Contribution) ต่อการหดตัวของเศรษฐกิจในระลอกแรกพบว่า การหดตัวของ GDP ที่ร้อยละ 13.66 นี้เกิดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยจากการประมาณพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลทำให้ GDP ของเศรษฐกิจไทยลดลงถึงร้อยละ 8.39 (จากร้อยละ 13.66) หรือคิดเป็นประมาณ 100x (8.69/13.66) = ร้อยละ 63.6 หรืออาจกล่าวได้ว่า การหดหายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการระบาดระลอกแรกส่งผลถึงร้อยละ 63.6 ต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลรองลงมากลับเป็นปัจจัยทางด้าน Risk Premium ของประเทศที่วัดจากอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่ส่งผลต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกสองประมาณ 100x (2.92/13.66) = ร้อยละ 21.4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยทางด้านการติดเชื้อและเสียชีวิตได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดระลอกแรก ในขณะที่สำหรับการระบาดในระลอกที่สองนี้การลดลงของนักท่องเที่ยวในประเทศจะส่งผลเพียงประมาณ 100x(1.65/13.66) = ร้อยละ 12

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าแบบจำลองจะไม่ได้ทำการประมาณสำหรับการระบาดระลอกที่สามก็ตาม แต่ด้วยถ้าสังเกตจากจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระลอกที่สามที่ผ่านมาก็น่าที่จะอธิบายได้ว่า ปัจจัยทางด้าน Risk Premium ของประเทศที่วัดจากอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตดังกล่าวนี้น่าจะแซงหน้ามาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจมากกว่าปัจจัยของการลดลงของนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

การประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19

การประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19

ในแง่ผลกระทบรายสาขาพบว่า ทางทีมของอาจารย์ศาสตราพบว่า สาขาที่หดตัวมากที่สุด (โดยพิจารณาจากปริมาณผลผลิตของสาขาการผลิตนั้นๆ) ล้วนเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งสิ้นได้แก่ 1) ที่อยู่อาศัยและอาหาร (หดตัวร้อยละ 45.7-67.2), 2) ธุรกิจนันทนาการ (หดตัวร้อยละ 29.4-41.4), 3) การขนส่งทางอากาศ (หดตัวร้อยละ 19.6-32.1), 4) การค้า (หดตัวร้อยละ 15.5-22.8), และ 5) เครื่องดื่มและยาสูบ (หดตัวร้อยละ 14.6-22.1) ตามลำดับ โดยการหดตัวของสาขาเหล่าเกิดจากอุปสงค์การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากสาขาเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้นผลการศึกษานี้จะแสดงให้เห็นในภาพรวมว่า สาขาการที่ข้องกับภาคการท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสาขานอกการท่องเที่ยว

ดังนั้นเพื่อเร่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผลการศึกษาในระดับมหภาคนี้จะสามารถนำไปเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ในเชิงนโยบายระดับประเทศได้สี่ประการหลักดังนี้

• ประการแรก ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว การลดปัจจัยทางด้าน Risk Premium ที่วัดจากอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิต เป็นแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก จนกระทั้งการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมยังประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจนกระทั่งเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการ “สร้างความเชื่อมั่น” ทั้งกับคนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้นโยบายที่จะดำเนินการต่อไปนี้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

• ประการที่สอง เมื่อมีการลดค่า Risk Premium แล้ว การเร่งเปิดประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุน (Contribution) ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากกว่าการพึ่งพาเพียงนักท่องเที่ยวไทย (นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คนจะสร้างรายได้เท่ากับนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 5 คน) เช่นการดำเนินมาตรการ Sandbox หรือ Sealed Destination ต่างๆ อาจเน้นการให้แรงจูงใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงแรกๆ เช่น การดำเนินนโยบายด้านราคา หรือการไม่เก็บค่าตรวจ Real-time RT PCR กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ภาครัฐสามารถสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ในการไปท่องเที่ยวในพื้นที่ Sandbox หรือ Sealed Destination กับนักท่องเที่ยวในประเทศได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและยินดีรับความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น

• ประการที่สาม จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบในภาคการท่องเที่ยว โดยควรเน้นการเยียวยาในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ การช่วยเหลือธุรกิจในระยะสั้นโดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ อาจใช้มาตรการการลดภาษี ยกเว้นภาษีบางอย่างเป็นการชั่วคราว

• ประการที่สี่ ภาครัฐควรยังคงดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์การท่องเที่ยวของคนในประเทศประกอบไปด้วย โดยอาจสามารถใส่เงื่อนไข (Conditional) หรือสร้างแรงจูงใจ (Incentives) ต่อการไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก เช่น การท่องเที่ยวในโครงการ Phuket Sandbox หรือ การท่องเที่ยวชุมชน (Community-Based Tourism) ที่จะเป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยในการลดความยากจนและกระจายรายได้ได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้กระทบกับภาคผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบไปถึงภาคแรงงาน อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่ระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผมจะขออธิบายผลกระทบในส่วนนี้ในบทความคราวหน้าครับ