posttoday

หรือเราจะยอมแพ้จริง ๆ ว่า SMEs คนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนโควิด-19 ทุบจะกู้ไม่ได้จริง ๆ

21 มิถุนายน 2564

ปัญหาการร้องของ SMEs รายย่อยเข้าไม่ถึงสินเชื่อนั้นมันมีมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหาของคนปล่อยกู้ คนอยากจะกู้ คนที่กำกับดูแลคนปล่อยกู้ และคนที่กำกับดูแลนโยบายในภาพใหญ่

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 27/2564? โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ประเด็นปัญหาการร้องของชุมชนคนค้าขายตัวน้อยที่เรียกว่า SMEs รายย่อยเข้าไม่ถึงสินเชื่อนั้นมันมีมาโดยตลอด เป็นปัญหาของคนปล่อยกู้ คนอยากจะกู้ คนที่กำกับดูแลคนปล่อยกู้ และคนที่กำกับดูแลนโยบายในภาพใหญ่ วันนี้ เวลานี้ มันน่าจะมาถึงทางแยกที่ชัดเจนว่า เราจะแพ้หรือชนะกับปัญหาเรื่องนี้ บทความของผู้เขียนจึงตั้งขึ้นว่า "หรือเราจะยอมแพ้จริง ๆ ว่า SMEs คนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนโควิด-19 ทุบจะกู้ไม่ได้จริง ๆ"

แต่เมื่อผู้เขียนได้ไปค้นคว้าถึงแนวคิด ข้อเสนอของผู้บริหารไฟแรงของธนาคารกลางเมืองสารขัณฑ์ ใกล้ ๆ กับประเทศเราเพราะมีที่ทำงานริมแม่น้ำเหมือนกัน แกได้เขียนขึ้นมาหลังการเดินทางกลับจากสัปปายะสถาน แถวเกียกกายเพราะถูกเชิญไปให้ข้อมูลว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อละมุนนุ่ม (Soft Loan) ข้อเสนอแกน่าคิดครับ เป็นวิธีการที่ควรแก่การยกมานำเสนอดังนี้นะครับ

การให้สินเชื่อใหม่ผ่านกรอบ Collateral Based Lending เสริมหรือทดแทนกรอบ Risk Based Lending เหตุเพราะว่าปัจจุบัน SMEs จำนวนไม่น้อยที่ผู้ประกอบการอาจจะมีที่ดินที่มีมูลค่าอยู่หลายแปลง แต่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนทรัพย์เหล่านี้ให้เป็นเงินที่จะใช้จ่ายหมุนเวียนในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะ เกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารกลางกำหนดว่า การให้สินเชื่อต้องพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (ภาษาในหนังสือที่เป็นกติกาคือลูกหนี้ยังมีศักยภาพ) โดยจะต้องไม่พิจารณาเฉพาะมูลค่าหลักประกันเท่านั้น

ในสภาวะที่ความเสี่ยงในระบบการเงินปรับสูงขึ้นมากจนทำให้การให้สินเชื่อตามกรอบ Risk Based Lending ทำงานไม่ได้ตามปกติ หนึ่งในทางรอด คือ การกลับไปใช้กรอบ (truly) Collateral Based Lending กล่าวคือ ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากมูลค่าของหลักทรัพย์เป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องเช็กข้อมูลเครดิตของลูกค้า หรือไม่ต้องตรวจเช็กรายได้ หรือ ความสามารถในชำระหนี้ พูดง่าย ๆ ก็คล้ายกับการเอาทรัพย์ไปตึ๊งที่โรงรับจำนำ (ภาษาสมัยก่อนปี 2540 คือ No Land No Loan) ธนาคารของรัฐบางแห่งมีโครงการออกมาแล้วได้รับการตอบรับดีมาก แต่ก็มีวงเงินไม่มากมายแบบเป็นการทั่วไปทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อใหม่ตามแนวนี้แบ่ง 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 Collateral ที่ถูกใช้เป็นหลักประกันมาก่อน เช่น ที่ดิน ทองคำ Rule of Thumb ของการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ คือใช้ราคาประเมินที่ conservative เช่น กรณีของที่ดิน อาจจะลองดูราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ซึ่งอาจจะลดลง(discount) ลงอีก 30-50% เป็นต้น

อานิสงส์เรื่องหนึ่ง คือ เป็นสินเชื่อที่มาทดแทนกับการที่คนค้าขายจำนวนไม่น้อยต้องไปขายฝากหรือ ขายขาดที่ดินให้กับบรรดานายทุนที่ปล่อยหนี้นอกระบบ แนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่สำคัญ คือ ต้องอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ตามช่องทางนี้ยืดหยุ่น มีวงเงินมากขึ้นได้ รวมถึงการให้ งบประมาณกับโรงรับจำนำของรัฐในจุดต่าง ๆ เพิ่มเติม (ถ้าไม่มีข้อติดขัดทางด้านกฎหมายใด ๆ)

กลุ่มที่ 2 Collateral ไม่เคยถูกใช้เป็นหลักประกันมาก่อนแต่มีคุณค่า ศักยภาพ เช่น กลุ่มที่เป็น Future Income ของประชาชน / เงินสะสมใน insurance / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / RMF / LTF / หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ / Mutual Fund / เงินสะสมในกองทุนประกันสังคม ตัวอย่างเช่น ถ้าทางประกันสังคม unlock เงินให้ 30% ผู้ประกันตนก็น่าจะสามารถนำหลักฐานที่ทางกองทุนประกันสังคมออกให้ไปใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แนวทางนี้จะช่วยประชาชนรายย่อยในระดับฐานรากจำนวนมาก นอกจากนี้ หลักประกันที่กล่าวถึงใน พรบ.หลักประกันทางธุรกิจ ก็เป็นอะไรที่น่าจะ ทำเพิ่มเติม เช่น Invoice ใบเรียกเก็บหนี้ของ SMEs ที่เป็นเจ้าหนี้ทางการค้าของบริษัทใหญ่ใน Supply Chain ที่ปัจจุบัน SMEs กำลังมีปัญหาอย่างมาก เราจะเห็นได้ว่าจุดนี้ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้ามาเชื่อมต่อประสาน โดยทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในลักษณะ Sandbox และการขยายผลในกลุ่ม SMEs รายย่อยที่ขายของให้เจ้าใหญ่เดือนละไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นต้น อันนี้จะช่วยให้มีสภาพคล่องเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

กลุ่มที่ 3 การให้สินเชื่อใหม่ผ่านการให้ Soft Loan ที่ภาครัฐผ่านบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน แนวทางในการปรับปรุง Soft Loan เวลานี้ก็ให้มีการประกันความเสี่ยงเพิ่มเติมโดยใช้กลไกการค้ำประกัน Portfolio Guarantee Scheme ของ บสย. ซึ่งยังพอจะใช้ได้

หากแต่อาจต้องพิจารณาข้อกำหนดในบางเรื่องให้เกิดผลมากขึ้นในทางปฏิบัติ เช่น อัตรา Max Claim พิจารณาปรับขึ้นในขณะที่ Individual Claim อาจกำหนดเพดานไว้ที่รายละ 80% โดยต้องแชร์ First Loss นอกจากนี้ กลไกอีกเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน แต่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน

คือ การให้ status “Seniority Debt” แก่ Soft Loan หรือ การได้รับสิทธิรับชำระก่อนซึ่งรวมถึงหนี้ที่ปล่อยไปในช่วงปี 2563-2564 โดยรวม เพื่อจูงใจมีการปล่อยเงินใหม่ ซึ่งหมายความว่า หนี้กลุ่มนี้จะได้บุริมสิทธิ์สูงกว่า unsecured loan ประเภทอื่น (seniority over other unsecured debts) แต่ยังเป็นรองสินเชื่อที่มีการจำนองหลักประกัน Collateralized Loan กลไกนี้เป็นกลไกใหม่ที่ทำให้ สถาบันการเงินกล้าจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มหรือไม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การหยิบขึ้นมาคุยให้สะเด็ดน้ำ

สุดท้ายเพื่อให้ Public Money ที่เป็นของธนาคารกลาง จะถูกใช้สนับสนุนโครงการ Soft Loan ให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรจะผูกข้อกำหนด โครงการที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อกับโจทย์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด 2 เรื่องในปัจจุบันคือ (1) ผูกกับการปรับโครงสร้างหนี้ และ (2) ผูกกับการจ้างงาน กล่าวคือ

สถาบันการเงินต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายที่ได้ Soft Loan ด้วย เพราะสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับกระแสเงินสดจะทำให้กิจการมีแนวโน้มที่จะอยู่รอด และมีโอกาสที่จะ Default น้อยกว่าที่ไม่ได้ทำ และเงื่อนไขว่า SMEs ที่ได้เงินกู้ไปก็จะต้องรักษาการจ้างงานให้ได้ในระดับและช่วงเวลาหนึ่ง อันจะทำให้บาดแผลทางเศรษฐกิจมีน้อยลงหรือไม่มีในท้ายที่สุด

ผู้เขียนเข้าใจดีครับว่า การให้กู้ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกับกิจการที่ยอดขายมันคำนวณได้ยากเป็นอะไรที่คนวิเคราะห์สินเชื่อไม่คุ้นเคยหลังวิกฤติปี 2540 แต่การพิจารณาศักยภาพของลูกค้าคนมาขอกู้วันนี้ปี 2564 มันก็อยู่ในภาวะ Unknown the Unknown อยู่แล้ว เราจะใช้วิธีการเดิม ระเบียบเดิมแต่ต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป มันคือสิ่งที่เรียกว่า สะกดจิตตัวเองหรือไม่ ความกลัวว่าจะมีความเสียหาย มันจะพาไปสู่ความเสียหายจากการไม่ทำอะไรเลย จนพาทะลุไปสู่ความเสียหายฉบับหายนะที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ จนวันหนึ่งหลังพ้นจากเก้าอี้ที่รับผิดชอบก็ได้แต่รำพันว่า วันนั้นฉันควรจะได้ลงมือทำในสิ่งนั้นที่ฉันกลัว ดีกว่าที่จะเห็นซากปรักหักพัง?ในวันนี้ (ในอนาคต)

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ