posttoday

นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางญี่ปุ่น

21 มิถุนายน 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.60 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยช่วงกลางสัปดาห์ประชุม กนง.

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week)โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.60 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดในสัปดาห์นี้ประเมินว่าจะอยู่ที่ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในปี 2023 ในสัปดาห์ที่แล้ว และทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะมองว่า กนง. จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมถึงสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงิน แต่จุดสำคัญที่เราติดตามคือ การประกาศคาดการณ์จีดีพีใหม่ของไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า หลังจากที่รัฐบาลให้คำมั่นจะเปิดประเทศใน 120 วัน นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมเช่นกัน ซึ่งตลาดประเมินว่าจะเห็นการขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่สูงมาก จากทั้งปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนและอีกส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ด้านปัจจัยต่างประเทศ อังกฤษและฟิลิปปินส์จะมีประชุมนโยบายการเงินเช่นกัน โดยตลาดมองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงิน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 14-18 มิถุนายน 2564 เงินบาทอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยจากการฉีดวัคซีนในไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงจากปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ และการรอผลการประชุมเฟดในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมเฟดที่เหนือความคาดหมายของตลาด โดยเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เปลี่ยน Dot Plot ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นถึง 2 ครั้งในปี 2023 จากเดิมที่คาดการณ์คงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2023 และเตรียมพูดคุยถึงการลดวงเงินคิวอีแม้จะยังไม่มีแผนที่ชัดเจน แต่ส่งผลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากเช่นเดียวกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค นอกจากนี้ เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้สู่ระดับ 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ 2.4% และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2022 และ 2023 อีก 0.1% แม้เฟดจะยังคงมองว่าเงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นปัจจัยชั่วคราวก็ตาม

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายเปิดประเทศอย่างเต็มที่ในอีก 120 วัน และจะเร่งการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้ครอบคลุม 50% ของประชากรภายในต้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวในอัตราที่สูง โดยนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสจะไม่ต้องกักตัว โดยประเดิมจากภูเก็ตแซนบ็อกเป็นที่แรก ทั้งนี้ รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 105.5 ล้านโดสสำหรับปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 100 ล้านโดสสำหรับครอบคลุม 70% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากความกังวลต่อหนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ในระดับสูงที่ 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงจาก 18% เป็น 16% และลดอัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคลลงจาก 28% เหลือ 24-25% เงินบาทปิดตลาดที่ 31.45 ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 17.22 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน เนื่องจากมีประเด็นสำคัญคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิม แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การเปิดเผยประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเฟดมีมุมมองที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปี 2023 จากเดิมที่เคยให้มุมมองในเดือนมีนาคมว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี 2023 ซึ่งภายหลังจากการประชุม ตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวทำจุดสูงสุดของสัปดาห์ใกล้เคียงบริเวณ 1.60% ก่อนที่พันธบัตรรัฐบาลตัวยาวจะปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์ ทำให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวโดยลดลง (Flattening) โดยที่ความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงทำจุดต่ำสุดของสัปดาห์ที่บริเวณ 128 bps ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการปิด position ที่เกรงว่าเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวโดยมีความชันสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงท้ายของสัปดาห์พันบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ลงมาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ 1.50%

ขณะที่ประเด็นภายในประเทศ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกพันธบัตรเบื้องต้น 1.81 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณนี้โดยจะไม่รวมเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเงินกู้ 5 แสนล้านบาทน่าจะไปรวมในปีงบประมาณหน้า ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานพันธบัตรรัฐบาลคลายลงไปบ้าง โดย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.52% 0.63% 0.92% 1.37% และ 1.86% ตามลำดับ

นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางญี่ปุ่น

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 6,774 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,509 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,270 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 5 ล้านบาท