posttoday

การแข่งขันไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

15 มิถุนายน 2564

การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหนีไม่พ้น เรื่องขีดความสามารถในการจัดหา กระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ความรุนแรง หนักเบาของผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และระยะเวลาการระบาดคงจะเป็นตัวชี้วัดในกลุ่มแรก ๆ ที่จะบอกได้ว่าแต่ละประเทศจะก้าวผ่านออกไปจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ และจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนให้ไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ซึ่งปัจจัยที่จะกำหนดเงื่อนไขไปสู่เส้นทางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็คงจะหลักหนีไม่พ้นเรื่องขีดความสามารถในการจัดหา กระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึงในระดับที่เพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ขึ้นมาได้

เท่ากับว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนอยู่ในสภาพของการแข่งขันในการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เกิดผมสัมฤทธิ์ได้เร็วกว่า ก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่มีความได้เปรียบในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 (เมื่อประเทศต่าง ๆ สามารถเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการระบาดของโรค) คงไม่ได้หมายความว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เคยดำเนินอยู่ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเหมือนเดิม การส่งออกจะเติบโตขยายตัวได้มากขึ้น หรือจะมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยที่ทุกประเทศต่างก็มีความมุ่งหวังที่เหมือนกันคือ มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น กระบวนการในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อการระบาดของโรคสามารถควบคุมได้แล้ว มีการเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ การส่งออกก็จะกลับมาเติบโตได้ตามเดิมด้วยเหตุผล 2 ประการ

(1) การส่งออกต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นเพราะทุกล้วนแต่มีความพยายามที่จะส่งออกให้ได้มากขึ้นเช่นเดียวกันด้วย ดังนั้น ความหวังที่ประเทศไทยจะส่งออกให้ได้มากขึ้น ใช้ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนในเกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีมากน้อยเพียงใด การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในระยะสั้นจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก เป็นแรงส่งที่มีความสำเร็จได้ในระยะสั้น แต่จะมีผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ยังคงขึ้นอยู่กับการปรับตัวและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเข้าสู่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการระบาดของโรค (การขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา และเหล็ก ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาโภคภัณฑ์) เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่จะมีอีกหลายประเทศพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้นมาแข่งขันดึงดูดนักท่องเที่ยวกันอย่างมากมาย ในขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศก็ยังจะมีข้อจำกัดที่มากขึ้น และมีต้นทุนที่สูงขึ้น ความคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศก็คงไม่ได้สำเร็จจบสิ้นกันเมื่อฉีดวัคซีนในได้ครอบคลุมและเปิดประเทศได้ ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง ปรับตัวไปสู่ความท้าทายใหม่อีกมากที่จะทำให้เราแข่งขันได้ โจทย์สำหรับประเทศไทยจึงไม่ใช่แค่ “เราพร้อมหรือไม่” แต่คงต้องมองต่อไปว่า “เราจะพร้อมอย่างไร” เวลามีอยู่ไม่มากเพราะทุกประเทศต่างแข่งขันกัน ลองดูตัวอย่างดัชนีวัดผลิตภาพการผลิตของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างเทียบกันไม่ได้แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากการระบาดของโรคเหมือนกัน

(2) ผลกระทบทางด้านรายได้ที่การระบาดของโควิดและมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อจำกัดการระบาดของโรคทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานในระดับกลางถึงต่ำ ระดับรายได้ปานกลางถึงระดับรายได้น้อย (กลุ่มคนยากจนก็คงจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นเดียวกัน) รายได้ที่ลดลงทั้งชั่วคราว และหลายปกติเป็นการลดลงอย่างถาวร เช่น ต้องถูกเลิกจ้าง ตกงาน หรือต้องเลิกกิจการ ฯลฯ การปรับตัวเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาใหม่ให้มีระดับรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมต้องใช้ความพยายาม และที่สำคัญต้องใช้เวลา ก็เท่ากับว่าในกระบวนการของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นการแข่งขันกันของแต่ละประเทศ (ทรัพยากรการผลิตในประเทศ) ที่จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คุณภาพของปัจจัยการผลิตที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูง ก็จะสามารถปรับตัวไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันก็พอจะมองเห็นทิศทางของการปรับเปลี่ยนผลิตภาพการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การผลิตและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่คำนึงถึงต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่ได้ยินคุ้นหูกันว่าเป็น “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” การปรับเปลี่ยนทักษะของแรงงานในระบบเศรษฐกิจไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตและห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)

ดังนั้น การบริหารจัดการวัคซีน (ตั้งแต่การจัดหา กระจาย และฉีดให้กับประชาชน) ให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งทำได้ดีและรวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นแต้มต่อสำหรับการแข่งขันในกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประเทศผู้คิดค้นวัคซีนขึ้นมาได้ (ยังไม่มีศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนของตัวเองได้) ความสามารถในการบริหารจัดการวัคซีนก็จะทวีความสำคัญมากขึ้น ว่ากันตามความเป็นจริง และจากข้อมูลทางด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการระบาดของโรคแล้ว ก็พอจะมีข้อสังเกตได้ว่า การระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเขตเมือง มีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่า ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า การบริหารจัดการเพื่อป้องกันการระบาดของโรคก็ทำได้ดีในหลายพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากการที่พื้นที่ (จังหวัด) หลายพื้นที่มีการระบาดน้อยกว่าพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง กทม. มาก

สิ่งที่ขาดหายไปของการบริหารจัดการการระบาดก็น่าจะเป็นมาตรการในเชิงพื้นที่ (Area-based Measures)โดยเฉพาะมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าจะลองคิดว่าเครื่องมือที่เราจะใช้เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย เครื่องมือทางการคลัง (เงิน) และเครื่องมือทางสาธารณสุข (วัคซีน) การบริหารจัดการในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราจะมองทุกเรื่องในเชิงมหภาค เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทุกกลุ่มคนในประเทศแบบเดียวกัน (One Size Fit All) เช่น มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบของการโอนเงินเพื่อสนับสนุนการใช้จ่าย (Money Transfer) ก็จะให้ทั้งกลุ่มเหมือนกันทั้งประเทศ (โครงการคนละครึ่ง ก็ให้เหมือนกันทั้งประเทศ) ซึ่งในกรณีนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า และอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ หรือความจำเป็นจริง ๆ ในพื้นที่

การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ไปทุ่มเททั้งงบประมาณและทรัพยากรอื่นเพื่อเปิดประเทศโดยใช้ภูเก็ตเป็นต้นแบบ (Phuket Sandbox) แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจของพื้นที่อื่น จังหวัดอื่น ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดเช่นเดียวกัน แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับภูเก็ตเลย ไม่ต้องอาศัยหรือพึ่งพาการท่องเที่ยว สิ่งที่ทำสำเร็จจากภูเก็ตก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ในแง่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของพื้นที่อื่นที่มีความแตกต่างจากภูเก็ต

จริงที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า การเปิดเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของประเทศ (กรณีนี้คือ ภูเก็ต) จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยทั้งระบบฟื้นตัวขึ้นมาได้

ยังไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการในลักษณะนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่ามีความจำเป็น การทุ่มเทสรรพกำลังไปในด้านใดด้านหนึ่งด้วยมาตรการของรัฐจึงต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบให้ครบถ้วน เช่น ถ้าเปิดภูเก็ตเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แล้วมาตรการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังจะใช้ได้กับพื้นที่ภูเก็ตหรือไม่ อย่างไร?

ก็น่าจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน แล้วสำหรับพื้นที่อื่นที่มีการท่องเที่ยวบ้าง ไม่มีเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวบ้าง แต่ได้รับผลกระทบ จะมีการดำเนินการอย่างไร ? ในแง่ของการบริหารจัดการที่เรามีเครื่องมือ 2 อย่างคือ เงิน และวัคซีน และเราก็ยังรู้อีกด้วยว่า วัคซีนจะต้องทยอยเข้ามาเป็นล็อตและต้องใช้เวลาในการกระจายและฉีด ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีวัคซีนอยู่แล้ว ฉีดเมื่อไหร่ก็ได้ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ก็น้อย แต่การนำเข้าและการกระจายฉีดก็ทราบกันดีอยู่ว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี ความสำคัญจึงมาอยู่ที่ว่าจะจัดสรรความสำคัญ (Priority) กันอย่างไร

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การระบาดของแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่ระบาดมาก มีความเสี่ยงมาก (ที่เรียกกันว่าสีแดงเข้ม) ไปจนถึงพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย ในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย ความจำเป็นอยู่ที่การเฝ้าระวัง การตรวจเชิงลึก (ซึ่งต้องใช้เครื่องมือไม่เหมือนกัน ชุดตรวจอาจจะสำคัญกว่าการได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด) แต่เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ คนในพื้นที่อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าถ้าได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือมีมาตรการในการช่วยเหลือทางการคลังที่เน้นเรื่องการสร้างรายได้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของพื้นที่ แต่ก็อาจจะได้รับวัคซีนช้าหน่อย (เช่น อาจจะช้าไปกว่ากลุ่มที่เสี่ยงมาก ๆ 2-3 เดือน ซึ่งการที่ต้องรอการนำเข้าวัคซีน ก็จะทำให้เขาต้องรอช้าไปกว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว) การทำงานที่สอดประสานกันของมาตรการทั้ง 2 ประเภท (เงิน และวัคซีน) ก็จะทำให้การดำเนินมาตรการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันในสมรภูมิของการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่แนวโน้มหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมาก (เช่น จีน เวียดนาม) มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนนโยบายไปเป็นนโยบายที่เป็นการมองเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น (Inward Looking Policy)

เช่น การส่งเสริมให้คนในประเทศใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวภายในประเทศแทนการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ฯลฯ สำหรับประเทศเปิดขนาดเล็กที่พึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาก การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้เข้าใจบริบทที่ครอบถ้วน รอบด้าน เพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่จะเป็นระยะเวลาของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ถ้า “หมอพร้อม” “หมอชนะ” และ “เราชนะ” โควิดกันได้แล้ว ต่อไปก็ต้องดูว่า “เศรษฐกิจพร้อมหรือไม่ที่จะแข่งขัน?” และในที่สุด “ประชาชนจะชนะด้วยหรือไม่?” หรือจะออกมาเป็นแบบประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ชนะ บางกลุ่ม (อาจจะเป็นส่วนใหญ่) แพ้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะไม่ทั่วถึงครอบคลุม เรียกว่าเป็น Inequality Recovery ไม่ได้เป็น Inclusive Recovery อย่างที่ต้องการ