posttoday

สถานการณ์ตั้งการ์ดไม่ให้ตกฝั่งคนปล่อยกู้

15 มิถุนายน 2564

สถาบันการเงินภาคเอกชน ในยามที่ลูกหนี้สั่นคลอนจากการเกิด Income shock การจะรับลูกนโยบายรัฐช่วยลูกหนี้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู รับทั้งหมดก็น่าจะไม่ใช่

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 26/2564 โดยสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร

ความมั่นคงของสถาบันการเงินในยามที่สถานการณ์ความมั่นคงของฝั่งลูกหนี้สั่นคลอนจากการเกิด Income shock เนื่องจากข้อจำกัดของการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามเงื่อนไขความปลอดภัยทางสาธารณสุข และต้องประคองตัวในการบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้แบบปรับโครงสร้างไป ทำมาหากินไป สำรองหนี้สงสัยจะสูญกันไป อาการประมาณว่า "ซื้อเวลา แก้กันไปแบบทุลักทุเล" ขณะเดียวกันการควบคุมต้นทุน การบริหารความปลอดภัยของบุคลากร การป้องกันไม่ให้ระบบล่มในการให้บริการ การสร้างกำแพงป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์ สุดท้ายคือต้องหาผลตอบแทนมาถวายผู้ถือหุ้น ซึ่งก็เรียกร้องเอาแบบไม่สนใจว่าเกิดโรคระบาดหรือไม่

ในส่วนของสถาบันการเงินภาคเอกชน ก็ว่ากันไปตามแต่แนวคิด แนวทาง การที่จะตอบสนองนโยบายภาครัฐแบบสุดลิ่มทิ่มประตู รับทั้งหมดก็น่าจะไม่ใช่ ลักษณะก็คงเป็นไปแบบให้ความร่วมมืออย่างดีที่สุด เหตุเพราะมาตรฐานการกำกับดูแลและมาตรฐานการบัญชีมันค้ำคออยู่หลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น การปล่อยกู้ soft loan นั้นถูกระบุว่าต้องเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบ ต้องติดตามการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และห้ามเอาเงินกู้นี้มาใช้คืนหนี้เดิม เป็นต้น

แค่เรื่องวิเคราะห์ว่า อะไรคือศักยภาพ จำนวนครั้งการปรับโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่คิดไว้เดิมตามสัญญาเก่ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะคิดใหม่ตามบันทึกต่อท้ายการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อคำนวณหาความสูญเสียมาบันทึกสำรองก็แย่แล้ว

ยังไม่นับเรื่องการบริหาร สำรองพึงกัน กับสำรองทั่วไปที่จะเป็นเขื่อนรองรับหนี้เสียที่จะไหลลงมาเพิ่มตามสถานการณ์ต้องเพียงพอ เหมาะสม ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เกิน 2% ท้ายสุดคือการพูดคุยให้ตกผลึก เข้าใจ มองในมุมเดียวกันกับบรรดาผู้ตรวจที่ conservative thinking ซึ่งมีความฝังใจในความกลัวผีจากวิกฤติสถาบัน?การเงินปี 2540 อีกเป็นกองทัพ

ผู้เขียนได้เห็นข่าวการตั้งการ์ดของผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ ที่ต้องรับนโยบายช่วยคนเดือดร้อนพร้อมไปกับการจัดการฐานะความมั่นคงแล้ว บอกตรง ๆ ว่าเห็นแล้วเหนื่อยแทน แต่ก็ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ทำงานตัวเป็นเกลียวในเวลานี้ ตัวอย่างเช่น

1. ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ปี 2564 นี้จะได้มีการตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มเติมอีก 11,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งฐานะการเงิน ให้มีความพร้อมนำไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และอาจประสบปัญหาผ่อนไม่ไหวในอนาคต ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่ตั้งไปแล้ว 12,400 ล้านบาท และหลังจากนี้ ธนาคารออมสินก็ยังมีแผนตั้งสำรองเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นดูแลลูกหนี้และแก้ไขหนี้กับลูกค้ารายเดิมเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาไปได้แล้วกว่า 6 แสนราย และตั้งเป้าหมายภายในเดือนมิถุนายน 2564 จะช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 8 แสนราย ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียยังทรงตัวแต่คาดว่าไตรมาส 2 จะมีลูกหนี้ตกชั้นกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ประเมินไว้แล้วและจะได้หาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้โดยตรง รวมถึงตั้งสำรองสร้างความเข้มแข็งควบคู่กัน

2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุในข่าวว่า ปี 2564 นี้ได้มีการตั้งสำรองตามแผนงานประจำปีซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งยังตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับผลกระทบโควิด-19 และมาตรฐานบัญชีใหม่โดยล่าสุดถึง 30 เมษายน 2564 ธนาคารตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มไปแล้ว 4,350 ล้านบาท สะสมรวมเป็น 101,450 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนต่อหนี้เสียที่ 182% ขณะที่เป้าหมายทั้งปีจะตั้งสำรองเพิ่มถึง 8,340 ล้านบาท สะสมเป็น 104,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 208% ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งรองรับความเสี่ยงได้ (ผู้เขียนจะเห็นได้ว่ามีการเร่งกันสำรองลูกหนี้แม้จะเป็นสินเชื่อบ้านให้สูงเป็นสัดส่วนเกิน 200% ของจำนวนที่คาดว่าจะมีปัญหา)

3. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ระบุว่ามีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 12,396 ล้านบาท ทำให้มีอัตราส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้เสียเพิ่มเป็น 220% ซึ่งอยู่ในระดับแข็งแกร่งรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ขณะที่หนี้เสีย ณ ไตรมาสแรกอยู่ 4.19% คิดเป็นมูลหนี้ 5,625 ล้านบาท

4. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุต่อสื่อมวลชนว่าที่ผ่านมาได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังคาดจะไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเลยเพราะปีที่แล้วตั้งสำรองส่วนเกินไว้มากจึงเพียงพอรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่าปี 2564 มีแผนตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 39,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ ธ.ก.ส. มีเงินสำรองสะสมในสิ้นปีเพิ่มเป็น 4.1 แสนล้านบาท ส่วนยอดหนี้เสียปัจจุบันอยู่ที่ 3.85% และคาดว่าถึงสิ้นปีดำเนินการ 31 มีนาคม 2565 จะเพิ่มเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.98% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

จากรายงานข่าวของกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้มีการเร่งตั้งสำรองรองรับความเสี่ยงจากผลกระทบโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท และครึ่งปีหลังยังมีแผนตั้งสำรองเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งฐานะการเงิน ให้สามารถรับมือกับลูกหนี้ที่ผ่อนไม่ไหวและอาจกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้ตามสมควร

ผู้เขียนเห็นว่า การตั้งการ์ดไม่ให้ตก การสนองนโยบายภาครัฐ การเตรียมตัวกับมาตรฐานการบัญชีแบบสากล การสร้างเขื่อนกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่คาดว่าจะไหลลงมาในระดับนี้ก็ต้องบอกว่าการที่จะเห็นตัวเลขกำไรฟู่ฟ่าคงไม่ใช่ และท้ายสุดคือสถานการณ์จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรระหว่างการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การจัดการผู้ติดเชื้อ การกระจายการฉีดวัคซีน การเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว การเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อย่างน้อยในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เราก็สามารถไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะและนวดเท้าได้แล้ว...

ขอบคุณมากครับที่ติดตามอ่าน