posttoday

นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางญี่ปุ่น

14 มิถุนายน 2564

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.90-31.30 ในสัปดาห์นี้

คอลัมน์ มีนนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.90-31.30 ในสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยตลาดยังคงประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัว เนื่องจากตลาดยังคาดว่าเฟดจะยังไม่ลดขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์ในการประชุมในครั้งนี้ เช่นเดียวกับบีโอเจที่ยังคงมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดิม สำหรับเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามความหวังของการเปิดเมือง ทำให้ตลาดคาดการณ์การเพิ่มขึ้นในเงินเฟ้อและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านเอเชีย ยอดค้าปลีกในจีนและผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอลงจากการที่จีนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 7-11 มิถุนายน 2564 เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมออกมาต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้ติดต่อกัน 2 เดือน ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเฟดอาจยังไม่ได้เริ่มหารือการลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ได้เร็วอย่างที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าลงมาอยู่ใกล้ระดับ 31.00 แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้นมาที่ 5.0%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่สิงหาคม 2008 และสูงกว่าตลาดคาดที่ 4.7%YoY ปัจจัยผลักดันหลักมาจากสินค้าโดยรวมซึ่งเกี่ยวข้องการกลับมาเปิดเมือง โดยเฉพาะราคารถมือสอง เครื่องเรือน ค่าตั๋วเครื่องบิน และเสื้อผ้า จึงตอกย้ำจุดยืนของเฟดที่มองว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่มีนาคมที่ 1.43% ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบสัปดาห์อีกประการหนึ่ง คือ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในแถลงข่าว คริสติน ลาการ์ด ส่งสัญญาณว่า อีซีบีจะเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยจาก 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยอีซีบียังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ลาการ์ดยังมองว่า เร็วเกินไปที่อีซีบีจะหยุดมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉิน แม้ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจะลดลงแล้ว ทั้งนี้ อีซีบีปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีปี 2021 จะขยายตัว 4.6%YoY ในปีนี้ จากเดิมที่คาด 4.0% และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อมาที่ 1.9% จาก 1.5%

ด้านไทย รัฐสภาอนุมัติ พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาทสำหรับโควิด-19 โดยมติ 270 ต่อ 196 เสียง โดยประเมินว่าจะทำให้จีดีพีไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5ppt ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้แก่กลุ่ม SMEs ออกไปถึงสิ้นปี 2021 จากเดิมที่มาตรการดังกล่าวจะหมดอายุลง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อีกทั้งอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลครึ่งปีได้

เงินบาทปิดตลาดที่ 31.07 ในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 16.20 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยปรับตัวลดลงมากกว่า 10 bps หลุดระดับ 1.50% มาซื้อขายอยู่ในกรอบ 1.40-1.50% ซึ่งสาเหตุหลักของการปรับตัวลดลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปิดสัญญา short ในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ถึงแม้ว่าการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมจะออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 5.0%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่สิงหาคมปี 2008 แต่นักลงทุนบางส่วนมองว่าการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นชั่วคราว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในรายละเอียดของการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพบว่าการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาตั๋วเครื่องบินและรถยนต์มือสองที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนักลงทุนมองว่ารายการดังกว่างเป็นเพียงการปรับตัวขึ้นในระยะสั้น ส่งผลให้แรงกดดันที่เฟดจะส่งสัญญาณของการลดลดขนาดคิวอีและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็ลดน้อยลง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย เคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง (Flattening) โดยไฮไลท์อยู่ที่การประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB31DA ตัว Benchmark รุ่นอายุ 10ปี วงเงินประมูล 15,000 ล้านบาท ที่ปรากฏว่าผลออกมาถือว่าค่อนข้างดี สะท้อนผ่านช่วงผลอัตราผลตอบแทนที่ค่อยข้างแคบที่ระดับ 1.81-1.82% และ Bid coverage ratio 3.13 เท่า ทำให้ ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.52% 0.60% 0.98% 1.40% และ 1.81% ตามลำดับ

นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางญี่ปุ่น

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,031 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 16,052 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 401 ล้านบาท