posttoday

10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง : จากทรัมป์สู่ไบเดน...กับการโจมตีจีน

09 มิถุนายน 2564

แน่นอนว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน และสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสงครามช่วงชิงอำนาจกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นตั้งแต่สมัยอดีตปธน.ทรัมป์ ที่เปิดสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน รวมถึงคว่ำบาตรการทำธุรกิจกับบริษัทจีนหลายๆ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีน เรื่อยมาจนถึงสมัยของปธน.ไบเดนที่ช่วงแรกดูเหมือนสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจะดูดีขึ้น ท่ามกลางการโฟกัสในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมาหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จนล่าสุดในวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ปธน.ไบเดนได้มีการลงนามคำสั่ง Executive Order เพื่อคว่ำบาตรบริษัทจีนเพิ่มเติม

10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง 

10 Things You Must Know about Wealth Management 

โดย นิษณากาญจน์ ภาษวัธน์

Executive Director, Head of Financial Advisory

Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คำสั่ง Executive Order ดังกล่าวเป็นการขยายอายุมาตรการห้ามไม่ให้สหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน โดยสั่งห้ามนักลงทุนสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีนจำนวน 59 บริษัท เช่น บริษัท Aero Engine Corporate of China บริษัท Fujian Torch Electron Technology และบริษัท Huawei Technologies โดยคำสั่งนี้จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 2 สิงหาคมเป็นต้นไป สำหรับนักลงทุนสหรัฐฯ ที่มีการถือครองการลงทุนในบริษัทเหล่านี้จะมีเวลา 1 ปีในการขายการลงทุน

คำสั่ง Executive Order ของปธน.ไบเดนถือว่าเพิ่มเติมและแตกต่างจากคำสั่งของปธน.ทรัมป์ 2 จุดด้วยกันคือ 1) เพิ่มขอบเขตของธุรกิจที่ถูกขึ้นบัญชีดำจากเดิมที่โฟกัสไปที่บริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยเพิ่มบริษัทจีนที่ผลิตกล้องหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการสอดแนมเข้าไปด้วย และ 2) จำนวนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในบัญชีดำเพิ่มขึ้นจาก 19 บริษัท เป็น 41 บริษัท 

ทั้งนี้ หุ้นจีนทั้ง 41 บริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันอยู่ที่ราว 4.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.1% ของน้ำหนักดัชนี MSCI China โดยบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำใหม่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นจีน A-Share มากที่สุดตามมาด้วยหุ้นจีน H-Share และไม่มีบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ Goldman Sachs มีการประเมินว่านักลงทุนสหรัฐฯ ปัจจุบันมีการถือครองการลงทุนในบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำใหม่ราว 0.7% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นเงินทุนที่จะถูกขายออกราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่นักลงทุนสหรัฐฯ ถือในหุ้นจีดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราวๆ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 3.3% เท่านั้น

ขณะที่ถ้าหุ้นทั้ง 41 บริษัทถูกเอาออกจากดัชนี MSCI การลงทุนในหุ้นดังกล่าวผ่านกองทุน ETF และกองทุนรวมจะคิดเป็นเงินทุนขายออกราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในอดีตเมื่อปธน.ทรัมป์ประกาศคำสั่ง Executive Order บนบริษัทจีนจะพบว่า ขณะที่นักลงทุนสหรัฐฯ ขายหุ้นบริษัทเหล่านั้นออก จะมีเงินทุนจากนักลงทุนจีน (Southbound) เข้าซื้อหนุนบริษัทดังกล่าว ดังที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัท China Mobile และบริษัท CNOOC ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงคาดว่าผลกระทบในแง่ของเงินทุนไหลออกโดยรวมจะจำกัด

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้าดำรงตำแหน่งความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ถือว่าดูดีขึ้นในบางส่วน เช่น 1) ด้านความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม 2) ด้านการค้า ที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2021 การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวกว่า 56% ขณะที่สหรัฐฯ ก็ส่งออกมายังจีนกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังต้องจับตาการเจรจาทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่ยังดำเนินอยู่ต่อเนื่อง 3) จำนวนบริษัทจีนที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2021 ก็สูงขึ้น โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโตกว่า 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2020 และ 4) ปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของจีนปรับสูงขึ้น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับระดับในปลายปีที่แล้ว ทำให้สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้นจาก 15.2% มาอยู่ที่ 15.6%

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนประกาศที่จะตอบโต้มาตรการดังกล่าว เราจึงยังต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างทั้ง 2 ประเทศอาจกลับมากดดันตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในหุ้นจีน เรายังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานระยะยาว โดยการคัดสรรหุ้นที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการเมืองอย่างจำกัดถือว่ายังสำคัญ รวมถึงการกระจายลงทุนหนุ้นจีนในหลายๆ ตลาดที่จดทะเบียนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน