posttoday

ตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ประชุมนโยบายการเงินของยุโรป อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

07 มิถุนายน 2564

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 ในสัปดาห์นี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์,มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 ในสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้อยู่ที่จีน ก่อนหน้านี้ตัวเลขภาคการผลิตของจีนในเดือนพฤษภาคมเริ่มส่งสัญญาณว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยตลาดยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อและดัชนีราคาผู้ผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกจะยังคงขยายตัวในระดับสูงแบบเลขสองหลัก อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของจีนส่งสัญญาณชัดเจนที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินหยวน ด้านสหรัฐฯ จะมีประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเช่นกันซึ่งมีแนวโน้มจะทรงตัวในระดับสูง ด้านนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางของแคนาดาจะเปิดเผยแผนการชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ตลาดรอติดตามแถลงข่าวของคริสติน ลาการ์ด หลังผลการประชุมนโยบายการเงินของยุโรป

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2564 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.30 เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชีย ประกอบกับมีเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ อีกทั้งยังได้ปัจจัยสนับสนุนจาก ครม. อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 มาตรการสำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีมูลค่รวม 1.4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ด้านตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนัก โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายนขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับที่ตลาดประเมินไว้ โดยดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ยังขาดดุลสูงที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์เป็นเหตุให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้น ส่วนอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลงในเดือนเมษายน ทั้งภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนวิกฤตโควิด-19 ใน Q1/2023 เนื่องจากความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัสระลอกที่ 3 และการกระจายวัคซีน จึงทำให้ต้องช่วยเลหือสภาพคล่องโดยเฉพาะแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งนี้ ธปท. มองเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคมว่า เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตกลางปี 2022 สัญญาณจาก ธปท. ดังกล่าวมีแนวโน้มกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าได้ในระยะต่อไป

ด้านราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ตุลาคม 2018 ในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากเจ้าชายซัลมานรัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบียมองว่า อุปสงค์ในตลาดโลกดีขึ้นชัดเจน จึงเหมาะสมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งการเจรจาด้านนิวเคลียร์ในอิหร่านถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงสิงหาคมนี้ด้วย

ด้านปัจจัยต่างประเทศ เงินหยวนนำการอ่อนค่าของเงินสกุลในเอเชีย เนื่องจากธนาคารกลางของจีนพยายามชะลอการแข็งค่าของเงินหยวน ทั้งการปรับขึ้นสัดส่วนเงินสำรองเงินตราต่างประเทศขึ้น 200 bps มาที่ 7% เริ่ม 15 มิถุนายนนี้ ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2007 เพื่อช่วยการจัดการสภาพคล่องและลดปริมาณเงินดอลลาร์และเงินตราต่างประเทศในระบบ อีกทั้งยังเพิ่มโควต้าการลงทุนของจีนในต่างประเทศอีก 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์มาอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ 1.47 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารพัฒนาแห่งจีนขายพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี 2 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการโดย Caixin เดือนพฤษภาคมอ่อนแอกว่าตลาดคาด โดยดัชนีลดลงมาที่ 55.1 จาก 56.3 จากตลาดคาดที่ 56.2 ทำให้ดัชนีฯ โดยรวมลดลง 0.9 จุดมาที่ 53.8 ปัจจัยเหล่านี้จึงกดดันเงินหยวนให้อ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์

นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อตลาดกังวลว่าเฟดอาจลดขนาดคิวอีเร็ว เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี และการดำเนินการของเฟด ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนพฤษภาคม ทั้งการจ้างงานภาคเอกชน ADP เพิ่มขึ้นถึง 978,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมสูงสุดตั้งแต่มิถุนายน 2020 และมากกว่าตลาดคาดที่ 650,000 ตำแหน่งไปมาก และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นลดลง 20,000 คนมาที่ 385,000 ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม อีกทั้งดัชนี ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 64.0 ประกอบกับเฟดส่งสัญญาณขายตราสารหนี้เอกชนและ ETF ซึ่งได้ซื้อสะสมในปีที่แล้วออกมาตั้งแต่ 7 มิถุนายนนี้ ณ 30 เมษายน เฟดถือครองตราสารหนี้เอกชนในโครงการ Secondary Market Corporate Credit Facility 5.21 พันล้านดอลลาร์ และ ETF 8.56 พันล้านดอลลาร์

เงินบาทปิดตลาดที่ 31.2ค ในวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบแถวบริเวณ 1.60% โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทั้งการประกาศตัวเลขดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 0.5 จุด มาอยู่ที่ 61.2 และสูงกว่าตลาดคาดในเดือนพฤษภาคม ดัชนี ISM ภาคบริการสหรฐัฯ เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 64.0 สูงกว่าตลาดคาดที่ 63.2 รวมไปถึงตัวเลขในภาคแรงงานอย่างตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ADP ที่เพิ่มขึ้นถึง 978,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม นับเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่มิถุนายน 2020 และมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 650,000 ตำแหน่ง และตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นที่ลดลง 20,000 คน มาอยู่ที่ 385,000 ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาอย่างแข็งแกร่ง นำมาซึ่งความกังวลว่าเฟดอาจจะเริ่มส่งสัญญาณของการลดลดขนาดคิวอีในเร็ววันนี้ กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในท้ายสัปดาห์

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยในประเทศมีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 2021 อยู่ที่ 2.24%YoY ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 3.41%YoY ขณะที่ตลาดคาดว่า เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.3%YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.49%YoY จาก 0.3%YoY ในเดือนก่อน นอกจากนี้ยังมีความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนวิกฤตโควิด-19 ใน Q1/2023 ซึ่งถือว่าช้ากว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้เรายังคงมุมมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้ากว่าประเทศอื่นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นไปอย่างจำกัด โดย ณ วันที่ 04 มิถุนายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.47% 0.53% 0.64% 1.06% 1.46% และ 1.87% ตามลำดับ

ตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ประชุมนโยบายการเงินของยุโรป อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 9,223 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 197 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 9,420 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ