posttoday

อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์

02 มิถุนายน 2564

ความกังวลต่อการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความผันผวนต่อสินทรัพย์ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ และที่สำคัญ คือ ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง แต่นักลงทุนในตลาดกลับมีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจนทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกจะยุติมาตรการ QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยในทีสุด นั่นคือ นักลงทุนกำลังคาดการณ์ว่าจะมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นในอนาคต หรือเรียกว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation)

โดย คุณเสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)

เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก คือการดูแลเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ราคา และการเงิน ซึ่งหนึ่งในเสถียรภาพด้านราคาที่ธนาคารกลางต้องดูแล คือ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราเงินเฟ้อ มีทั้งเรื่อง อุปสงค์ อุปทาน ราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าต่างๆ เป็นต้น แต่มีอีกปัจจัยที่ถูกนึกถึงน้อย แต่มีความสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะไม่สามารถวัดได้โดยตรง แต่มี 3 แนวทางที่ใช้วัดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ได้แก่

• การสำรวจผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่อทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ เช่น ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น

• การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะเห็นได้จากการประมาณการทางเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF เป็นต้น

• อัตราเงินเฟ้อที่เกี่ยวข้องกับตราสารทางการเงิน (Inflation-related financial instruments) เช่น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (inflation-linked bond) โดยมีหลักการ คือ การคำนวณอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (real yield) จากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรประเภทปกติกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งเรียกทั่วไปว่า break-even inflation นอกจากนี้ยังสามารถวัดได้จากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราเงินเฟ้อ (inflation swap) เป็นต้น

อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันสะท้อนจากตราสารทางการเงิน นั่นคือ 10 ปี break-even-inflation ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 0.5% ณ วันที่ 19 มี.ค. 2563 มาอยู่ที่ระดับ 2.3% ณ วันที่ 19 มีนาคม 2564 แม้ว่าการรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นในสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% (yoy) และ 1.3% (yoy) ตามลำดับ แต่นักลงทุนกลับคาดการณ์ไปล่วงหน้าว่าจะเกิดเงินเฟ้อขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้านการคลัง มาตรการด้านการเงินและสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลก รวมทั้งวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ใช้อย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากการคงกำลังการผลิตในระดับต่ำของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร อีกทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ในตะวันออกกลาง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาจนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้ธนาคารกลางต้องหันมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนในตลาดจะตอบสนองล่วงหน้าก่อนที่เหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเภทของการถือครองกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนหนี่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง สร้างความผันผวนต่อราคาสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งเกิดการเปลี่ยนกลุ่มลงทุนจากหุ้นเติบโตไปเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฎจักรเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันสินค้าโภคภัณฑ์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อโลกขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วง  20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อโลกมีทิศทางชะลอตัวลง หากแบ่งการคำนวณเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2553 และ ปี พ.ศ. 2554-2564 อัตราเงินเฟ้อโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 4.1% และ 3.5% ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structural factors) ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าแรงถูกลง และการขยายตัวของ E-Commerce เป็นต้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สูงขึ้นในวันนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างถาวร และสินทรัพย์ที่เป็นผู้ชนะในวันนี้อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในวันที่สภาวะแวดล้อมทางการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การติดตามสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการลงทุน เพื่อที่จะช่วยให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีจากสินทรัพย์ลงทุน