posttoday

ลงทุนอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะผ่านจุดพีค?

24 พฤษภาคม 2564

1 เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังขยายตัวอยู่ในช่วงพีคหรือจุดสูงสุดในไตรมาส 2 นี้ Bloomberg Consensus คาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 2 อาจจะโตถึง 12.8% เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าในไตรมาสต่อๆ ไปเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตในอัตราหรือความเร็วที่ชะลอลง ซึ่งอาจทำให้บรรยากาศตลาดทุนเปลี่ยนแปลงไป เพราะตลาดทุนมักถูกขับเคลื่อนการซื้อขายด้วยสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนโดยคำติดหูที่ว่าตลาดรับรู้ราคาไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

2 หนึ่งใน Leading Indicator ของสหรัฐฯ ที่ตลาดจับตามอง คือ ดัชนี ISM Manufacturing PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาคการผลิตรายเดือน มีความสัมพันธ์ในการบอกแนวโน้ม GDP สหรัฐฯ ได้แบบใกล้เคียง โดยดัชนี ISM Manufacturing PMI นี้ เพิ่งแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีที่ 64.7 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มอ่อนแรงลงมาแต่ระดับ 60.7 ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด ตอกย้ำภาพที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงจุดสูงสุด

3 นอกจากนี้ จากข้อมูลในอดีตพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะมีความผันผวนสูงขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวลงหลังจาก ISM Manufacturing ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว  

4 อีกหนึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ตลาดจับตามอง คือ อัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ก็แตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปีที่ 4.2% YoY ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 2.6% ในเดือนก่อนหน้า โดยนักวิเคราะห์มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังปรับตัวขึ้นต่อ และมีโอกาสแตะจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่า FED อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ โดยสรุป ส่วนผสมของเศรษฐกิจที่จะเติบโตช้าลง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเกิดความกังวล กดดันทั้งหุ้น และตราสารหนี้ในช่วงนี้ 

5 อย่างไรก็ดี ในแง่ของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เรามองว่าผลการกดดันตลาดจะไม่ยืดเยื้อ เพราะองค์ประกอบเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นแรงในเดือนเมษายนมาจากราคารถมือสองที่ปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งเป็นผลมาจาก 1) การผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิป และ 2) ราคาเครื่องบินที่สูงขึ้น หลังการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ทำได้ในวงกว้าง ประชาชนจึงกลับมาเดินทางได้อีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 เหตุผลไม่น่าจะยืดเยื้อในระยะยาว โดยเรายังเชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะชะลอลงในครึ่งปีหลังนี้

6 อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้ตลาดคลายความกังวลลง และทำให้หุ้นยังมี upside คือ 1) การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อจากนี้ แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดในไม่ช้า แต่อัตราการเติบโตก็ยังคงแข็งแกร่งไปอีกหลายไตรมาส รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ต่ำมาก ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ไบเดน และทิศทางของ FED ที่ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินยังคงอยู่ 2) การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอื่นยังไม่ถึงจุดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือประเทศเกิดใหม่ 3) แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นคาดว่าจะชะลอลงในครึ่งปีหลัง และ 4) เงินเฟ้อประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น แต่โดยรวมแล้วยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง 

7 สำหรับมุมมองการลงทุนท่ามกลางส่วนผสมของเศรษฐกิจที่จะเติบโตช้าลง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เรามองว่าสินทรัพย์ที่จะถูกกดดัน คือ 1) พันธบัตรรัฐบาล และ 2) ทองคำ ขณะที่สินทรัพย์ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นดี คือ 1) หุ้นยุโรป 2) หุ้นประเทศเกิดใหม่ 3) หุ้นกู้ในจีน และ 4) สินทรัพย์นอกตลาด 

8 จะเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สินทรัพย์จะผลัดกัน Outperform และ Underperform ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในระยะยาวของเราก็ยังคงยึดหลักการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนอยางสม่ำเสมอ มากกว่าพนันไปกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว

9 นอกจากลงทุนกระจายหลากหลายสินทรัพย์แล้ว ก็ควรกระจายการลงทุนยิบย่อยในแต่ละสินทรัพย์ด้วย เช่น ลงทุนในหุ้นทั้งกลุ่ม Growth ที่ได้ประโยชน์จากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงโตได้ดี และ หุ้นกลุ่ม Value ที่ได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นต่อของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

10 สุดท้ายการกระจายการลงทุนในหลายๆ ช่วงเวลาก็สำคัญ โดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การค่อยๆ ทยอยลงทุนแบบกระจายจำนวนเงินเท่าๆ กันเป็นงวดๆ หรือเป็นไม้ๆ ตามแต่กำหนดไว้ เช่น ลงทุน 1 ล้านบาททุกๆ อาทิตย์ ซึ่งเราเรียกว่าการลงทุนแบบนี้ว่า Dollar Cost Average นั่นเอง