posttoday

โอกาส SME กลุ่มสินค้าอาหารหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

06 เมษายน 2564

บทความโดย...ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

จีนแม้จะเป็นประเทศแรกที่เริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก แต่จีนก็เป็นประเทศแรกๆ เช่นกันที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ทั้งจากมาตรการการควบคุมโรคที่เข้มงวด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หนึ่งเดียวของโลกที่ไม่ประสบภาวะหดตัวในปี 2563 โดยมีจีดีพี ขยายตัว 2.3 % ตรงข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยจากพิษโควิด-19 โดยเชื่อด้วยว่า ปี 2564 จีนจะยังคงขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร สินค้าจำเป็นที่จีนยังมีความต้องการและเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ หลังธุรกิจ SME ของไทยต้องเผชิญต่อความท้าทายด้านการส่งออกจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการของโลกซบเซา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 64 เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตในกรอบร้อยละ 8.0 – 8.5% จากการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศที่เริ่มจะกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ล้านคน ผู้มีรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประสิทธิภาพและทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะแตกต่างออกไป โดยเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนไปเป็นการให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว หรือมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตและสุขภาพเป็นหลัก ผู้ส่งออก SME ที่เห็นถึงโอกาสนี้ในตลาดจีน ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำตลาดในจีนได้

ทั้งนี้ สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพเป็นคำตอบของสินค้าส่งออกในด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ที่ทั้งรัฐบาลจีนและลูกค้าชาวจีนรุ่นใหม่ๆ ต่างให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. สินค้าอาหารในกลุ่มโปรตีนจากพืช เช่น ผลิตภัณฑ์นมและไข่จากพืช 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น สินค้ากลุ่มสมุนไพร เครื่องเทศ ผักผลไม้ ถั่วและธัญญาพืช สินค้าไพรไบออติกและพรีไบออติก 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยเฉพาะขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เหลือทิ้งจากการบรรจุอาหาร ซึ่งจะต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี รวมถึงการลดปริมาณการใช้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นหรือเลือกใช้วัสดุชนิดอื่นที่ทดแทน รวมไปถึงการลดปริมาณขยะอาหารที่หมดอายุหรือรับประทานไม่หมดของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

โดยสินค้ากลุ่มอาหารที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมทาง อาหารพร้อมปรุง โดยควรเน้นสินค้าอาหารที่มีความปลอดภัย สะอาดและถูกสุขลักษณะ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และดีต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโควิด-19

และแม้ว่าภาพรวมของการส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ไม่มีภาวะหดตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ที่คาดว่า GDP จีนมีแนวโน้มขยายตัวได้เกินกว่า 80% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องของการส่งออกไทย เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า อันเกิดจากผละกระทบจากเงินดอลลาร์ฯ ที่ถูกกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หดตัว และมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การกระจายวัคซีนโควิด-19 ไม่เป็นไปตามแผน หรือประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำกว่าที่คาด จนส่งผลต่อการฟื้นต้วเศรษฐกิจในวงกว้าง ปัจจัยการแข่งขันและปกป้องทางการค้า เช่น การลงทุน การผลิตสินค้าเองในประเทศเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการจ้างงาน การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ และภาวะการแข่งขันสูงในตลาด เป็นต้น

โดยการเข้ามามีบทบาทในการดำเนินเจรจาด้านการค้าระหว่างประเทศของภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงและขยายช่องทางการขายไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีนได้อย่างกว้างขวาง และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีต่อไป