posttoday

ปัจจัยเสี่ยงกดดันตลาดปรับฐานในไตรมาส 2

06 เมษายน 2564

คอลัมน์ Global Investment Advisory โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

เป็นเวลา 11 เดือนนับจากจุดต่ำสุดในวันที่ 23 มี.ค. 20 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 75% ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เป็นการฟื้นตัวที่เร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาดูคล้ายกับการฟื้นตัวจากวิกฤต Subprime ในปี 2009 เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความเร็ว ขนาด และรูปแบบในการฟื้นตัว หากพิจารณาการฟื้นตัวจากช่วง Subprime Crisis จะพบว่าดัชนี S&P 500 มีการปรับฐานราว 10% ในเดือนที่ 11 ของการฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดหุ้นในช่วงนี้ มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเช่นกัน

เรามองตลาดหุ้นมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเพิ่มขึ้น จาก 1) แนวโน้มการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าคาด โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งอาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เร็วอย่างที่คาด 2) Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นแรงจนกดดัน Valuation ของตลาดหุ้น 3) ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาแข็งค่า และ 4) นโยบายการเงินของจีนที่เริ่มกลับมาเข้มงวดขึ้น

สำหรับปัจจัยแรก ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทั่วโลก ได้เริ่มความพยายามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โดยมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะสำเร็จเมื่อประชากรอย่างน้อย 65% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส (ในกรณีที่วัคซีนมีประสิทธิภาพ 90% ขึ้นไป) ในกลุ่มประเทศหลัก อังกฤษมีความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1 ใน 4 ของประชากร และ ตามด้วยสหรัฐฯ ซึ่งฉีดวัคซีนไปเกือบ 1 ใน 5 ของประชากร

อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนในยุโรปยังล่าช้าเป็นอย่างมาก โดยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเพียง 5-6% ของประชากร และมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อวันที่ช้าเพียง 0.1-0.2% ของประชากร ซึ่งหากยุโรปไม่สามารถเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วกว่านี้ ก็อาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าออกไปอีกหลายปี

ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การฉีดวัคซีนยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้น (ราว 2-3% ของประชากรในบราซิลและจีน) และอัตราการฉีดยังช้ามาก เนื่องจากมีอุปสรรคในด้านจำนวนประชากรที่มาก และด้านบุคลากรการแพทย์และการขนส่งวัคซีน

แนวโน้มการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าคาด โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งอาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้ากว่าคาด

สอง Bond Yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจเริ่มกดดัน Valuation โดย Bond Yield สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะพุ่งขึ้นแรงในไตรมาส 2 ตามตัวเลขเงินเฟ้อ ที่จะเพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นไปจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะผ่านสภาในช่วงกลางเดือน มี.ค. ก็จะเพิ่มแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจรวมถึงแนวโน้มการขาดดุลการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ Bond Yield สูงขึ้น นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังที่เข้ามาช่วย อาจทำให้มาตรการการเงินมีความจำเป็นลดลง และอาจทำให้ Fed เริ่มส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการทยอยลดการอัดฉีดสภาพในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในปีหน้า

สาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง และแนวโน้มการฉีดวัคซีนเร็วกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนั้นการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของนักเก็งกำไร ซึ่งมีสถานะ Short สุทธิในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าเร็ว โดยหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจจุดชนวนให้นักเก็งกำไรเร่งปิดสถานะ Short เพื่อ Take Profit ด้วยการ Take Long Position หรือซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ คืน ซึ่งจะทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปอีกในระยะสั้น

สี่ การทยอยถอนสภาพคล่องของธนาคารกลางจีน เพื่อลดความร้อนแรงในตลาดการเงิน โดย PBoC ได้ถอนสภาพคล่องสุทธิไป -2.16 แสนล้านหยวน ในเดือน ม.ค. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ระยะสั้นของจีน (1-week Shibor Interbank Rate) เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015

โดยสรุป เรามองตลาดหุ้นมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานจากหลายปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น และแนะนำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นลดความเสี่ยงของพอร์ตหาก Bond Yield สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 1.4%

อย่างไรก็ดีเรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในระยะยาว และแนะนำให้ใช้โอกาสที่ตลาดปรับฐานเข้าซื้อหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclicals) รวมถึงหุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) ซึ่งน่าจะยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี