posttoday

ตราสารหนี้ และหุ้นไทยยังน่าสนใจหรือไม่?

29 มีนาคม 2564

คอลัมน์ 10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง โดย...นิษณากาญจน์ ภาษวัธน์ ธนาคารกสิกรไทย

1. รู้หรือไม่ หากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นหลักของโลก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น โดยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ดัชนี SET ปรับขึ้นมาแล้วมากกว่า 30% ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการทำ Sector Rotation ที่ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าหุ้นที่เป็น Laggard ในปี 2020

2. ท่ามกลางบอนด์ยีลด์ที่ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยสหรัฐฯ ตลาดตราสารหนี้ของไทยก็ได้รับอานิสงฆ์ด้วยเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.77% ไปแตะจุดสูงสุดที่ 2.05% ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.9% ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2021) ทั้งนี้ เป็นการทยอยไล่ระดับสูงขึ้นไปอยู่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปีน่าจะทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่องเหนือระดับ 2%

3. การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในตลาด ซึ่งเป็นตัวอ้างอิงต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ ส่งผลกระทบให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยส่วนเพิ่ม

4. จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ในส่วนของภาครัฐ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลไทยในปีนี้ รวมกันคิดเป็นวงทั้งหมดประมาณ 2.35 ล้านล้านบาท ด้วยต้นทุนการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 0.65% ในปีนี้ ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 3,550 – 4,600 ล้านบาท

5. ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน จะมีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดประมาณ 5.89 แสนล้านบาท ซึ่งต้องมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนตัวเก่าหรือ Refinance ซึ่งหมายถึงภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นราว 5,500 -6,200 ล้านบาท ดังนั้น รวมต้นทุนด้านดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อาจทำให้การสร้างผลกำไรอาจจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับปีนี้

6. แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เช่น มาตรการสินเชื่อพิเศษ หรือโครงการพักทรัพย์พักหนี้ แต่มาตรการดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม

7. ดังนั้น การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมอาจจะยังไม่สดใสนัก โดยเรายังคงชอบการลงทุนในประเทศเอเชียอื่นๆ มากกว่าโฟกัสในตราสารหนี้ไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เรามองว่าปี 2021 จะเป็นปีที่ดีของหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ หรือ High Yield Bond ที่ผลตอบแทนปีที่แล้วถูกกดดันหนัก

8. ข้ามมาที่มุมมองต่อตลาดหุ้นไทย อ้างอิงจาก Bloomberg Consensus คาดผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนต่อหุ้นในปี 2021 อยู่ที่ 77 บาทต่อหุ้น และในปี 2022 จะอยู่ที่ 95 บาทต่อหุ้น หมายถึง อัตราการเติบโตอยู่ที่ 23% นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนบริษัทที่จะปรับประมาณการณ์ขึ้นมีเพียง 27% ในครั้งล่าสุด เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่ 36%

9. หากพิจารณาความถูกแพงผ่าน 12-month Forward P/E Ratio ของดัชนี SET เราที่ปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ 19 เท่า เทียบกับระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 15 เท่า ก็ถือว่าแพงอยู่มาก

10. ดังนั้น ด้วยราคาที่ปรับขึ้นมาเยอะแล้ว และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นตัวขับเคลื่อนชัดเจน ท่ามกลางการปิดประเทศที่ยังจะกดดันภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เราจึงยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนหุ้นไทย ณ ราคาปัจจุบัน เนื่องจากผลตอบแทนที่คาดหวัง หรือ Upside ต่อจากนี้เริ่มจำกัด