posttoday

ครบรอบ 1 ปี โควิด 19 กับตลาดที่เทขายหุ้น Growth

15 มีนาคม 2564

10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง

10 Things You Must Know about Wealth Management

โดย นิษณากาญจน์ ภาษวัธน์

Executive Director, Head of Financial Advisory

Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

1. ผ่านมาแล้ว 1 ปีกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดทุนทั่วโลก ณ เวลานี้ในปีที่แล้วเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นโลกกำลังปรับตัวลงอย่างหนัก โดยดัชนีหุ้นโลกอย่าง MSCI All-Country World ปรับตัวลงแรงถึง 34% จากจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ และแตะจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม

2. อย่างไรก็ตาม ภาพในวันนี้ดูเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง วัคซีนกำลังถูกกระจายฉีดทั่วโลกส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับหนึ่งลดลงต่อเนื่อง จากการประเมินคาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรราว 60-70% ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ด้านคาดการณ์ GDP หลายๆ ประเทศจะขยายตัวดีมากจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 8.7% ของ GDP สหรัฐฯ) ที่กำลังได้รับการอนุมัติ ดูแล้วโลกเรากำลังจะผ่านพ้นการคุกคามของโรคโควิด 19 ได้ในไม่ช้านี้

3. อย่างไรก็ดี ความกังวลของตลาดก็ยังอยู่ แม้ภาพทุกอย่างดูดีขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งความผันผวนระลอกใหม่จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่จะปรับตัวขึ้นเร็วต่อจากนี้ ทำให้พันธบัตรถูกเทขายอย่างรวดเร็ว จากมุมมองเศรษฐกิจโลกในอนาคตที่ดูดีขึ้นมาก จนอาจกดดันให้ FED จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นลดลงดังที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ Taper Tantrum ปี 2013

4. โชคดีที่เรายังมองว่าสภาวะตลาดรอบนี้แตกต่างจาก Taper Tantrum ในปี 2013 อยู่มาก เศรษฐกิจโลกปัจจุบันขยายตัวดีกว่า นโยบายทางการเงินยังคงผ่อนคลาย นอกจากนี้ หากพิจารณา Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีที่ปรับขึ้นจาก 0.99% มาอยู่ที่ 1.5% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2020) จากจุดต่ำสุดของปี 2020 ในเดือนสิงหาคมที่ 0.5% เทียบกับการปรับตัวขึ้น 1.37% ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2013 จาก 1.6% มาอยู่ที่ระดับ 3% จะเห็นว่าการปรับตัวขึ้นรอบนี้ยังน้อยกว่า รวมถึงระดับ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีปัจจุบันที่ 1.5% ก็ยังถือว่าเป็นระดับดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่

5. และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปฏิกิริยาตอบสนองของตลาดที่ชัดเจน คือ Sector Rotation ที่หุ้นกลุ่ม Growth ถูกเทขายต่อเนื่อง ดังที่เห็นดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง สวนทางกับดัชนี Dow Jones ที่ส่วนมากประกอบด้วยหุ้น Blue Chip หรือหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เหตุผลที่หุ้น Growth (เช่น หุ้นกลุ่ม Tech และ Health Care) มักอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยขาขึ้นก็เพราะการคำนวณมูลค่าของราคาพื้นฐานหุ้นด้วยการใช้อัตราคิดลด หรือ Discount Rate จะใช้ดอกเบี้ยมาหารคาดการณ์กำไรสุทธิในอนาคต ซึ่งดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ตัวหารสูงขึ้น หมายถึงมูลค่าหุ้นที่ลดลงนั่นเอง

6. มาดูผลตอบแทนราย Sector ของหุ้นโลกตั้งแต่ที่ Yield พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวขึ้นกันบ้าง (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2020) หุ้นกลุ่ม Financials, Energy และ Industrials ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นที่สุด โดยปรับตัวขึ้น 40.1%, 39.8% และ 29.6% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มรั้งท้าย ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Consumer Staples, Utilities และ Health Care ที่ให้ผลตอบแทน 4%, 4.1% และ 5.6% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่ม IT ให้ผลตอบแทนกลางๆที่ 15.2% อย่างไรก็ดี Sector ผู้ชนะ และผู้แพ้ต่อดอกเบี้ยตลาดที่ปรับขึ้นรอบนี้กับรอบปี 2013 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

7. เราจึงลองหาค่าสหสัมพันธ์ หรือ Correlation ของ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี กับหุ้นโลกแต่ละ Sector ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแล้วพบว่า กลุ่มธุรกิจที่มีค่าสหสัมพันธ์ หรือมักจะวิ่งสอดคล้องกับ Yield พันธบัตรรัฐบาล คือ กลุ่ม Financials นั่นเอง (ค่าสหสัมพันธ์อยู่ที่ 0.475) ขณะที่กลุ่ม Utilities และกลุ่ม Consumer Staples ที่ทั้ง 2 ถูกจัดว่าเป็นหุ้นประเภท Defensive มีค่าสหสัมพันธ์กับ Yield พันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำสุดที่ -0.001 และ 0.053 ตามลำดับ

8. ทีนี้เราลองศึกษาค่าสหสัมพันธ์ของ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี กับดัชนีหุ้นประเทศหลักๆ ของโลกกันบ้าง จะพบว่าดัชนีรายประเทศมีความสัมพันธ์น้อยกว่าดัชนีราย Sector โดยดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ มีค่าสหสัมพันธ์สูงสุดที่ 0.29 ขณะที่ดัชนี CSI300 ของจีนมีค่าสหสัมพันธ์ต่ำสุดที่ 0.098 ตอกย้ำความไม่ค่อยเชื่อมโยงกับใครของหุ้นจีน A-share

9. ด้านดัชนี SET ของเราก็ปรับตัวขึ้นดีไม่แพ้กัน โดยปลายปี 2020 SET อยู่ที่ระดับ 1462 จุด ปรับขึ้นต่อเนื่องมาแตะ 1575 จุดล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2020) หมายถึงผลตอบแทนเกือบ 9% ซึ่งต้องขอบคุณส่วนประกอบ Sector ของหุ้นไทยเราที่มีสัดส่วนกลุ่ม Financials และ Energy เป็นอันดับ 1 และ 2 ที่ 15% และ 12% ตามลำดับ ทำให้หุ้นไทยเราที่ผลตอบแทนล้าหลังประเทศอื่นๆ มานาน เริ่มมีหนทางที่สดใสขึ้น คำถาม คือ Sector Rotation นี้จะยาวนานเท่าไหร่

10. ท่ามกลางตลาดที่อ่อนไหวต่อข่าวอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ หุ้นกลุ่ม Growth แม้ว่าจะถูกเทขายในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีอนาคตที่สดใสสะท้อนจากกำไรสุทธิที่โตอย่างก้าวกระโดด ดูแล้วการกลับมาก็อาจจะไม่ยากเท่าไหร่ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีเป็นทุกส่วนของชีวิตประจำวัน กลยุทธ์การลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยงต่อเนื่องนั่นเอง