posttoday

ไม่ต้องตกใจกับ เปอร์เซ็นต์หนี้เสียของสินเชื่อที่ช่วยคนเข้าถึงได้

08 มีนาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 11/2564? โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเครดิตบูโร

ไม่ต้องตกใจกับ เปอร์เซ็นต์หนี้เสียของสินเชื่อที่ช่วยคนเข้าถึงได้ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อผู้เขียนได้อ่านข่าวจากการเปิดเผยของท่านรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านบริหาร ที่ได้ระบุในหัวข้อความคืบหน้าการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ ที่มีเป้าหมายช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้นว่า

1. ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 มีผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งหมด 1,008 ราย แต่เปิดดำเนินการแล้วรวม 935 ราย ใน 75 จังหวัด โดยเป็นผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากสุด 558 ราย น้อยสุดคือ ภาคใต้ 49 ราย1.1 สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (แบบปกติ) มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสะสมสุทธิ 868 ราย ใน 75 จังหวัด แต่มีที่เปิดดำเนินการแล้ว 818 ราย

1.2 สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสะสมสุทธิทั้งสิ้น 140 ราย ใน 45 จังหวัด แต่มีผู้เปิดดำเนินการแล้ว 117 ราย ใน 37 จังหวัด

2. วงเงินสินเชื่อตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีการอนุมัติแล้ว 413,622 บัญชี วงเงิน 10,073.78 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,355.04 บาทต่อบัญชี

3. ล่าสุดสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 173,235 บัญชีคิดเป็นจำนวนเงิน 3,841.12 ล้านบาท

4. สินเชื่อที่ค้างชำระ 1-3 เดือน (ผู้เขียน: ถือว่ามีปัญหาการค้างชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย)? สะสมรวมทั้งสิ้น 24,487 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสม 572.38 ล้านบาท หรือ 14.90% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

5.สินเชื่อที่ค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (ผู้เขียน:ถือว่าเป็นหนี้เสียไปแล้วหรือเป็นหนี้NPL) สะสมรวม 28,526 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 653.94 ล้านบาท หรือ 17.02% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

หลายท่านอาจจะตกใจว่า?ปล่อยกู้ไป? 100 บาท เป็นหนี้เสีย? 17 บาท?และเป็นหนี้สีเทาๆ อีกประมาณ? 15 บาทรวมกันคือเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยง? 32 บาท?จากที่ปล่อยกู้ไป? 100 บาท?ภายใต้การคิดดอกเบี้ยไม่เกิน? 36% ต่อปี? ตามเงื่อนไขของใบอนุญาต?ที่ออกให้?

สิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องเข้าใจก็คือ

1. กลุ่มลูกค้าที่กู้เงินส่วนหนึ่งประสบปัญหาจากการกู้นอกระบบประเภทดอกเบี้ย 2% ต่อวัน หรือเงินกู้ส่งดอกรายวัน ดังนั้นการให้กู้ตามใบอนุญาตนี้จึงเข้ามาช่วยได้ในระดับหนึ่ง

2. กลุ่มลูกค้าที่กู้ นับเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการสินเชื่อในระบบเหตุเพราะ แหล่งที่มาของรายได้อาจไม่แน่นอน ไม่มีเอกสารแสดงที่มาของรายได้เช่นสเตทเม้นท์ชัดเจน ไม่มีหลักประกัน ดังนั้นการให้กู้นี้จึงเข้ามาแก้ไขจุดอ่อนนี้

3. กลุ่มสถาบันที่เข้ามาให้บริการในเรื่องนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเสี่ยงแลกกับรายได้ดอกเบี้ยที่คิดได้ไม่เกิน 36% ดังนั้นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งจำเป็น การบริหารความเสี่ยงในการติดตามทวงถามหนี้ในกรอบของกฎหมายที่เป็นธรรมต้องดำเนินการไป

ผู้เขียนไม่ได้แปลกใจ ตกใจกับตัวเลขหนี้เสีย 17% เลย เพราะในสถานการณ์แบบนี้การค้าขายที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพอนามัยที่ทำได้ไม่เต็มที่ ถือว่าทำได้ดีพอประมาณเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่ไม่มีประกัน สินเชื่อในระบบจากฐานข้อมูลในเครดิตบูโร หากเรานับเอาว่าบัญชีสินเชื่อประเภทใดก็ตามถ้ามีการค้างเกิน 90 วันโดยไม่ต้องไปสนใจว่าจะสำรองเต็มแล้วหรือไม่แบบคำนิยามระดับอ่อนที่รายงานกันเพื่อให้สบายใจแล้วละก็ เราก็จะพบว่า สินเชื่อจากการใช้บัตรเครดิตรวมกันทั้งระบบ 5 แสนกว่าล้านบาทมันก็มีหนี้เสียหรือหนี้ NPL ประมาณ 13% อยู่แล้ว อีกทั้งมันยังเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันเช่นกันครับ สินเชื่อส่วนบุคคลที่กู้ไปเป็นก้อน ผ่อนกันเป็นงวดก็อาการไม่ต่างกันเท่าใดนัก

นี่ขนาดว่ามีโครงการให้ความช่วยเหลือมาระยะหนึ่งแล้วนะครับ ใจร่มๆ กันนะครับ เราได้ผ่านการระบาดรอบแรก การระบาดรอบใหม่มาแล้ว ต้องตั้งหลักให้ดี ไม่ไหวให้รีบปรับโครงสร้างหนี้ ถูกฟ้องให้ไปไกล่เกลี่ยหนี้ ต้องการข้อมูลโทรหา 1213 ศูนย์?คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยครับ วัคซีนมาแล้วก็จริง หน้ากากยังต้องใส่ ล้างมือให้บ่อยยังต้องทำ อยู่ห่าง ๆ กันทางกายแต่ใจคิดถึงกันเข้าไว้ ไม่มีใครรู้ว่าระบาดรอบสามจะมาอีกหรือไม่ ได้แต่ภาวนาว่าร้อนขนาดแสบผิวกันทุกวันนี้ ไวรัสน่าจะท้อไปบ้างไม่มากก็น้อย