posttoday

ติดตามการประชุมอีซีบี และความคืบหน้ากฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

08 มีนาคม 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, พินทุ์ณาดา กิตติวาณิชย์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.20-30.60 ตลาดการเงินยังคงติดตามแนวโน้มการผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาโดยวุฒิสภา รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ทั้งนี้ นักลงทุนรอติดตามการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนประจำปี ในเบื้องต้น จีนตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่า 6% ในปีนี้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ สินเชื่อ และการส่งออกจีน ด้านนโยบายการเงิน ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มหารือผลกระทบของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นต่อภาวะการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอย่างมาก โดยเปิดตลาดอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว หลังจากปิดทำการในวันมาฆะบูชา เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังธนาคารกลางของนานาประเทศออกลดความวิตกของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนชะลอการเทขายพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติ 219 ต่อ 212 เสียงอนุมัติมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทผันผวนสอดคล้องกับค่าเงินสกุลทั่วโลก ทั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ อนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ของ Johnson & Johnson สำหรับคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยฉีดเพียง 1 โดสเท่านั้น ในเบื้องต้น บริษัทพร้อมส่งวัคซีน 4 ล้านโดส และอีซีบีออกมาแสดงความเห็นว่า อาจมีมาตรการชะลอการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เสี่ยงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ในช่วงปลายสัปดาห์ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปให้ความเห็นว่าอาจไม่มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบาลอังกฤษเพิ่มขึ้นมากเช่นกันหลังจากรัฐบาลประกาศงบประมาณรายจ่าย ทำให้ตลาดคาดว่าจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม ส่วนประธานเฟดกลับไม่ได้ส่งสัญญาณชะลออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ โพเวลกล่าวว่าจะกังวลหากเป็นผลของตลาดที่ทำงานไม่เป็นปกติ หรือภาวะการเงินตึงตัวต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเป้าหมายนโยบายการเงิน ความเห็นดังกล่าวทำให้ตลาดผิดหวังที่โพเวลไม่ได้กล่าวถึงเครื่องมือที่เป็นไปได้ที่จะชะลอการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนหากจำเป็น อีกทั้งกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่ได้เปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตอย่างที่ตลาดคาด ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในช่วงปลายสัปดาห์และปิดตลาดที่ระดับ 30.49 (วันศุกร์ เวลา 17.44 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดคือเรื่องที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่แสดงความกังวลที่ Bond yield ปรับตัวขึ้น และไม่ส่งสัญญาณที่จะทำการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มด้วย ทำให้ตลาดเกรงว่าเฟดอาจยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับขึ้นทะลุระดับ 1.56 % ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกช่วงอายุสอดคล้องกับปัจจัยในต่างประเทศ ประกอบกับการเร่งรัดฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่แม้ว่าจะเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงประเด็นที่น่าติดตามคือตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไทยเดือน กพ. ติดลบมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน กพ อยู่ที่. -1.17% YoY ติดลบมากกว่าเดือนก่อนทที่ -0.34%YoY และสวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ที่ -0.16% YoY อันส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรไทย(Real yield)ปรับเพิ่มขึ้น และอาจดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่ง ณ วันที่ 5 มีนาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.53% 0.67% 0.81% 1.20% 1.56% และ 1.95% ตามลำดับ

ติดตามการประชุมอีซีบี และความคืบหน้ากฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,922 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,708 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,284 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 70 ล้านบาท