posttoday

แนวคิดสำหรับจัดการเงินในครอบครัว

05 มีนาคม 2564

การบริหารจัดการเงินในครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและรอบคอบ เพราะถ้าหากละเลยหรือขาดความระมัดระวัง  จนทำให้การเงินของครอบครัวไม่มั่นคง  ก็อาจส่งผลกระทบกับคนที่เรารัก   ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิตประจำวัน  การทำงาน  การเรียน รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจด้วย     

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™

กองทุนบัวหลวง

ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการเงินในครอบครัว  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวางแผนและลงมือทำ “ร่วมกัน” อย่างมีวินัย  เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินร่วมกัน  แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาทางการเงินในครอบครัวส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการ  “ไม่ร่วมกัน”  ซึ่งสาเหตุของการไม่ร่วมมือกันนี้  ไม่ได้เกิดจากความชัง  แต่เกิดจากความรักและความเสียสละของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำครอบครัว หรือ เสาหลักในการหารายได้”  ที่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวได้กิน ได้ใช้  อย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องกังวลใจ  นำไปสู่การใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังของคนในครอบครัว  และถ้าหากโชคไม่ดีหรือเกิดเหตุไม่คาดคิดก็อาจทำให้การเงินของครอบครัวต้องประสบปัญหาได้

แนวทางป้องกัน หรือ จัดการเรื่องเงินในครอบครัวนั้น  เริ่มต้นที่การเปิดใจยอมรับว่า การพูดคุยเรื่องเงินกันในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำ และต้องพูดคุยร่วมกันทุกคน  ไม่จำกัดว่าเป็นผู้สูงอายุ เด็ก สามีหรือภรรยา    เพราะทุกคนคือ “สมาชิก” ที่มีส่วนได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบ จากการจัดการเงินในครอบครัว  ด้วยเหตุนี้  อยากนำเสนอ  4  แนวคิดในการจัดการเงินเพื่อความสุขในครอบครัว   ซึ่งกุนซือในการจัดการเรื่องนี้  คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ตัวเรา”  

โดยแนวคิดแรกที่อยากให้เริ่มต้นทำก็คือ “การสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัววางแผนการเงินส่วนบุคคล”   ด้วยการกระตุ้นให้ทุกคนบริหารจัดการรายรับของตัวเองให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย  รู้จักสังเกตและควบคุมพฤติกรรมในการใช้จ่ายของตัวเองให้เหมาะสม  สามารถมีเงินใช้จ่ายเพียงพอ  มีเงินออม  และไม่มีหนี้สิน  ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายมากกว่า หรือ พอดีกับรายรับ  ควรแนะนำให้ลดรายการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง  เพื่อให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น แนวคิดนี้คือ “การรับผิดชอบตัวเองทางการเงิน”  ถ้าทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ ก็จะทำให้การจัดการเรื่องเงินในครอบครัวง่ายขึ้นมาก เพราะเสาทุกต้นของบ้านมีความแข็งแกร่ง   ซึ่งตัวช่วยในการบริหารจัดการเรื่องนี้ก็คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย นั่นเอง

แนวคิดที่สองก็คือ “การกำหนดเป้าหมายในชีวิต” เพราะเป้าหมายในชีวิต คือ พลังในการขับเคลื่อนทัศนคติ ความคิด และการกระทำในทุกอย่างในชีวิตของเรา  รวมไปถึงการวางแผนทางการเงินด้วย ดังนั้น การมีเป้าหมายในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน  หรือเข้าใจไม่ตรงกัน  อาจนำพาไปสู่ปัญหามากมายในครอบครัว  ยกตัวอย่าง คู่สมรส  คนหนึ่งต้องการใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ต่างจังหวัด เพราะต้องการความสงบ ใช้ชีวิตพอเพียง   อีกคนหนึ่งต้องการใช้ชีวิตวัยเกษียณในเมือง  เพราะต้องการความสะดวกในการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาลที่ไว้วางใจ  จากเป้าหมายเกษียณที่ไม่เหมือนกันนี้  แน่นอนว่าทั้งสองคนจะมีลักษณะในการใช้จ่ายเงินที่แตกต่างกัน  โดยคนที่ต้องการใช้ชีวิตเกษียณอยู่ในเมือง มีแนวโน้มที่จะเคร่งเครียดเรื่องการออม การใช้จ่าย และลงทุนมากกว่า  เพราะการใช้ชีวิตในเมืองนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง  จำเป็นต้องสะสมเงินทุนจำนวนมากเพื่อการใช้ชีวิตในยามเกษียณ  ดังนั้น  หากไม่ได้พูดคุยกันเรื่องเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน  นอกจากจะส่งผลกระทบทางการเงินแล้ว   ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

แนวคิดที่สามเกี่ยวข้องกับ  “การจัดการหนี้สิน”  โดยการบริหารหนี้สินในครอบครัวนั้นควรเริ่มต้นจากการแยกส่วนหนี้  หนี้ฉัน  หนี้เธอ และหนี้เรา  ซึ่งในส่วนของหนี้เรานี้   ต้องยอมรับว่าการสร้างครอบครัวในปัจจุบัน  ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่การเป็นหนี้   ไม่ว่าจะเป็น หนี้บ้าน หนี้รถ และเพื่อความไม่ประมาทเราควรลดความเสี่ยงจากการที่คนใดคนหนึ่ง หรือ เราทั้งคู่  ไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ด้วยการทำประกันภัย  คุ้มครองกรณีตกงาน  ทุพพลภาพ  เสียชีวิต   รวมถึงประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินด้วย  เมื่อบริหารจัดการหนี้เราแล้ว   ลำดับถัดไปคือ  จัดการหนี้สินส่วนตัวต่างๆ  เช่น  หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  หนี้สินส่วนตัว  โดยเฉพาะหนี้สินส่วนตัว   ขอให้พยายามจัดการด้วยตัวเอง  และขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า  “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”  กรรมะคือ การกระทำของเราเอง  เราเป็นผู้ประมาทใช้จ่าย  จึงต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง  เหตุผลที่แนะนำเช่นนี้  เพราะการใช้หนี้แทนกัน    หากอีกฝ่ายหนึ่งการเงินไม่ได้แข็งแรงมากพอ  ในบางครั้งการช่วยเหลือนั้น  ก็อาจทำให้สภาพคล่องของครอบครัวมีปัญหา  และนำพาทั้งครอบครัวไปสู่การมีหนี้สินได้   นอกจากนี้   ในหลายครั้งพบว่า  การช่วยเหลือทางการเงินอย่างง่ายๆ ด้วยความรักนี้   ไม่ได้ทำให้ผู้ก่อหนี้สินเกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่ายอย่างแท้จริง  

แนวคิดสุดท้ายคือ  “อย่ายึดมั่นว่าจะเอาชีวิตของเราไปผูกติดกับใคร” เพราะสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้มีเพียงสิ่งเดียว  นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลง  เพราะทุกคนในครอบครัวของเราต่างก็มีทัศนคติ ความคิด และแนวทางการใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง    อาจเหมือนกับเราบ้างในบางอย่าง  และอาจจะแตกต่างกับเราบ้างในหลายๆ อย่าง   แต่ที่แน่นอนคือทุกคนมีสิทธิเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ  ดังนั้น  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ  เราต้องสามารถดูแลตัวเองได้   สามารถวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล  เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกาย สบายใจ  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวของเราเอง  และหากได้พึ่งพาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ทางกายบ้าง  ทางใจบ้าง  ทางทรัพย์บ้าง  ก็ให้ถือว่าเป็นกำไรชีวิต