posttoday

แนวโน้มการพัฒนาและการลงทุนในยุโรป

05 มีนาคม 2564

การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่ได้ดำเนินนโยบายดิจิทัลและนโยบายสีเขียวควบคู่กันไป จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจ มุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด หรือโครงการและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ยุโรปเป็นทวีปที่มีการรวมตัวกันของ 27 ประเทศเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า กลุ่มสหภาพยุโรป จึงมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและบริการ สามารถดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศกว่า 18% ของ FDI โลกในขณะที่สหภาพยุโรปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงสร้างโอกาสการลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องจักรผลิต Chip ในประเทศเนเธอร์แลนด์ , บริษัท ASML ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือผู้จำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับภาคบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล จากรายงานดัชนีเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy and Society Index) ปี 2563 พบว่า จำนวนการใช้อินเตอร์เน็ตของประชากรยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 อัตราของประชากรยุโรปที่ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างต่ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์อยู่ที่ 75% และมีการใช้อินเตอร์เน็ตในการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นมากทั้งการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมทั้งระบบการชำระเงิน ทำให้เกิดการลงทุนทั้งด้านการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟร์แวร์ รวมถึงแพลตฟอร์มที่ใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์และการชำระเงิน ทำให้มีหลายบริษัทที่โดดเด่นในด้าน Digital Payment อย่างบริษัท Adyen บริษัท Fintech สัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีขนาดที่ใหญ่กว่าแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศในยุโรป

ยุโรปยังมีบทบาทนำในนโยบายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่จริงจังที่สุดในโลก และเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ซึ่งได้มีการวางแผนลดโลกร้อนในอนาคต 10-30 ปีข้างหน้าตามนโยบายหลักของสหภาพยุโรป “European Green Deal” ภายใต้วงเงินสนับสนุนกว่า 7.5 แสนล้านยูโร ที่มุ่งสู่การฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนสหภาพยุโรปไปสู่ความมั่งคั่ง ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Target)  ไปในภูมิภาคและภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ป่าไม้ ภาคเกษตร อาหาร เมืองสีเขียว  อาทิระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างโอกาสให้บริษัทในสหภาพยุโรปจะได้มีการลงทุนผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อนโยบายนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รถยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste treatment technology) และกระบวนการเปลี่ยนแปลงขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น

โลกหลังการระบาดของโควิด-19 คงไม่เหมือนเดิม การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลพร้อมกับคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรปที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจังของรัฐบาล ซึ่งจะมีเม็ดเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ภาพระยะสั้น เศรษฐกิจยุโรปกำลังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวหลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจด้านการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ การพัฒนาและการใช้วัคซีนต้านโควิด 19  ที่เริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก รวมถึงในยุโรปที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจในกลุ่มยุโรปกลับมาขยายตัวและกลับสู่ภาวะปกติ ยิ่งหากมีการเดินทางระหว่างประเทศได้ หลายประเทศในยุโรปจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม สถาปัตยกรรมเก่าแก่ และแหล่งช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศภูมิภาคยุโรปดินแดนแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม