posttoday

บทบาทของการลงทุนต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

23 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งในระลอกแรกและระลอกสองส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคงจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (ในลักษณะ V shape) และคงจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรขึ้นอยู่กับกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยทั้งการปรับตัวของหน่วยเศรษฐกิจ (ผู้บริโภคหรือครัวเรือน ผู้ผลิต และภาครัฐ) ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนโยบายหรือมาตรการของภาครัฐที่นำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การหดตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมีความกระจุกตัวสูงโดยเฉพาะการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 มีผลให้เกิดการจำกัดของการเดินทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้การสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนที่สูงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และคงจะเป็นที่คาดหมายกันได้ว่าการกลับมาของกิจกรรมการท่องเที่ยวในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ซึ่งก็ยังคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หรือแม้แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางแล้ว ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงที่การท่องเที่ยว โดยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเอง รูปแบบความต้องการบริการการท่องเที่ยว รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ดังนั้น แนวทางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องมีลักษณะมองไปข้างหน้ามากขึ้น (Forward Looking) มากกว่าการตั้งความหวังกับการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมให้ได้เร็วที่สุด มากที่สุด มาตรการส่งเสริมให้เกิดการบริโภค (เพื่อชดเชยมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดหายไป) หรือการให้การช่วยเหลือเยียวยากับผู้เดือดร้อนในระยะสั้น ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มีพลังมากพอในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคโดยมาตรการทางการคลังเป็นระยะเวลานานอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งต่อศักยภาพในการเติบโต (Potential Growth) และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability) ในระยะกลางและระยะยาวได้

ดังนั้น ในกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 คงต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วยการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน (ทั้งภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ) เป็นหลัก เรียกว่า การลงทุนต้องเป็นพระเอกในการนำพาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดูเหมือนรัฐบาลจะยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปั้นพระเอกคนนี้เท่าไหร่

ทำอย่างไรให้การลงทุนในประเทศไทยมีความน่าสนใจ ดึงดูดให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย การปรับปรุงมาตรการจูงใจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และการใช้มาตรการจูงใจที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เช่น ถ้าเห็นว่าการใช้พลังงานสะอาด การรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการขจัดมลพิษเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะมาตรการส่งเสริมไปที่ผู้ผลิต (เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน) ในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แล้วตั้งความหวังผู้ผลิตจะถ่ายโอนผลประโยชน์บางส่วนไปสู่ผู้บริโภค (เมื่อตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น) ซึ่งก็มักจะพบว่าไม่เกิดขึ้น ถ้าจะลองหันมาพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนทางด้านผู้บริโภคดูบ้าง (Incentive on the demand side) โดยการให้เงินชดเชยไปที่ผู้บริโภคในการเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยมากมักจะมีราคาแพงกว่าสินค้าอย่างเดียวกันหรือทดแทนกันในตลาด

มาตรการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างประโยชน์ทางสังคม (Social Benefit) จากการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ด้วยการทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ลงทุนมองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจและสนใจลงทุน เพราะความน่าสนใจลงทุนของประเทศไม่ได้มีปัจจัยเพียงแค่แรงงานราคาถูก (ซึ่งก็ไม่ใช่จุดแข็งของประเทศไทยอีกเช่นกัน) อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับทักษะแรงงาน องค์ความรู้ ระดับและความสามารถในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่รกรุงรังจนเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน โดยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ในภาพรวมก็จะสะท้อนถึงผลิตภาพการผลิต (Productivity) และขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ ซึ่งน่าจะได้รับน้ำหนักความสำคัญในลำดับต้นๆ ของแผนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงต่อไป

โดยปกติ การลงทุนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดหวังผลตอบแทนทั้งในปัจจุบันและอนาคต การตัดสินใจลงทุนจึงเป็นการเปรียบเทียบการคาดการณ์ผลตอบแทน (Expected Return) จากการลงทุนกับต้นทุนของการลงทุน การมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน กิจกรรมการผลิตที่มีความน่าสนใจลงทุน (ลงทุนเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการในสาขาใด ประเภทใด) เป็นบทบาทของผู้ผลิต หรือผู้ลงทุนในระบบกลไกตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมและความต้องการสินค้าในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตรมากขึ้นซึ่งผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การตัดสินใจลงทุนก็ย่อมต้องคำนึงถึงปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ครอบคลุมและซับซ้อนมากขึ้น ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ในส่วนของภาครัฐเองก็จำเป็นต้องสนับสนุน อำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐในการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง การปรับนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในรูปแบบของ e-government เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หลายประเทศนำมาใช้ และสามารถยกระดับความน่าลงทุนของประเทศขึ้นมาได้เป็นอย่างมาก

สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากการระบาดของโควิด-19 คงจะหวังพึ่งพาการขับเคลื่อนโดยภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างเมื่อคราววิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้ยากเพราะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแตกต่างกันหลายประการ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในคราวนี้อ่อนแอกว่าเมื่อปี 2540 มากเพราะการระบาดของโรคทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังซื้อลดลง การเคลื่อนย้ายของคน สินค้า บริการ หรือแม้แต่ปัจจัยการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น (ในกรณีการท่องเที่ยว มีข้อจำกัดให้สามารถเดินทางได้น้อยลงมาก) ค่าเงินบาทในปี 2540 อ่อนค่าลงอย่างมาก แต่ในคราวนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ฯลฯ

ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคในระลอกแรก (ต้นปี 2563) ก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) มีปัญหาจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ดี (โดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี) เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพทางด้านการเติบโตของผลผลิต (บางปีโตได้มากหน่อย บางปีก็โตน้อย) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นจำเป็นมากที่ต้องอาศัยการลงทุนเพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการบริโภค (ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคโดยการโอนเงินให้ประชาชนใช้จ่ายในรูปแบบต่าง ๆ) ไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์ให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ เมื่อเกิดการระบาดของโรค จึงเป็นเหมือนการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่โอนเอนอยู่แล้วล้มลงได้โดยง่าย

การจะกลับมาลุกขึ้นยืนให้ได้และสามารถเดิน-วิ่งต่อไปได้ของเศรษฐกิจไทยต้องใช้พลังมากกว่าปกติ และพลังที่สำคัญนั้นคงต้องขับเคลื่อนจากการลงทุน ถ้าผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศได้ช้า หรือไม่ได้ โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยซึมต่อไปเป็นระยะเวลายาวก็คงจะมีไม่น้อย การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วงนี้จึงไม่น่าจะเน้นเพียงแค่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมา “เหมือนเดิม” เพราะหลายๆ มิติจะไม่เหมือนเดิม (การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในช่วงการระบาดของโรค มีสัดส่วนที่สำคัญมาจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามยังสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศเขาได้)

คงจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจน่าจะได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการลงทุนกันอย่างจริงจัง จริงหรือไม่ที่ในระบบเศรษฐกิจไทยมีทุนสะสมอยู่พอสมควร แต่ปัญหาคือ ผู้ประกอบการมองไม่ออกว่าควรจะลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดจึงจะสอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของไทย หรือเราจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่จำเป็นสำหรับทุก ๆ สาขาอุตสาหกรรมแบบเป็น Broad-based Infrastructure (ซึ่งรวมถึง Soft Infrastructure เช่น การปรับปรุงกฎหมาย การเปิดรับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การยกระดับทักษะแรงงานทางด้านเทคโนโลยี ทักษะทางด้านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ฯลฯ) รวมทั้งการปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนและสอดคล้องกับแนวทาง (เป้าหมาย) ของการพัฒนาประเทศ