posttoday

โพเวลแถลงต่อสภาคองเกรส และสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ลงมติมาตรการของไบเดน

22 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, พินทุ์ณาดา กิตติวาณิชย์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 29.80-30.20 ตลาดการเงินยังคงติดตามแนวโน้มการติดเชื้อไวรัส และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน ในสัปดาห์นี้ เจอโรม โพล ประธานเฟดเตรียมรายการการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงครึ่งปีต่อสภาคองเกรส ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายสัปดาห์เตรียมพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไบเดนวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในรอบแรก โดยยังคงอยู่ในกรอบเวลาที่จะผลักดันมาตรการออกให้ได้ก่อนกลางเดือนมีนาคม ด้านไทย ทางการมีกำหนดรายงานตัวเลขการค้าตามระบบศุลกากร และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมกราคม ขณะที่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ที่กำหนดประชุมนโยบายการเงิน โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางของคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์หลังสภาพัฒน์รายงานจีดีพีไทยไตรมาสที่ 4 หดตัว 4.2%YoY (ขยายตัว 1.3%QoQ sa) ดีกว่าตลาดคาดที่ -5.4% และไตรมาสก่อนที่ -6.4% ปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ การฟื้นตัวของการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่กลับมาขยายตัวตามมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ทั้งปี 2020 เศรษฐกิจไทยหดตัว -6.1% ดีกว่าตลาดคาดที่ -6.4% นอกากนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการ ‘ม.33 เรารักกัน’ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยารายละ 4,000 บาทจำนวน 9.27 ล้านคน (83.5% ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33)

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงกลางสัปดาห์เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเร่งขึ้นเหนือระดับ 1.30% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยนักลงทุนเริ่มหวังว่าสหรัฐฯ จะสามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มวงเงินที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนและการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของเฟด สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ด้านนโยบายการเงินสหรัฐฯ เฟดย้ำการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในรายงานการประชุมเดือนมกราคม โดยส่งสัญญาณคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่เข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินของเฟด ถือเป็นการย้ำสัญญาณของโพเวลที่สื่อสารก่อนหน้านี้ คณะกรรมการประเมินว่า มาตรการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังช่วงที่ผ่านมาและระยะต่อไปจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ด้านอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการมองว่ายังไม่กังวลในตอนนี้

ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในช่วงปลายสัปดาห์และปิดตลาดที่ระดับ 29.98 (วันศุกร์ เวลา 16.30)ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับขึ้นทะลุระดับ 1.30% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 26-27 ม.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อและการจ้างงานเต็มศักยภาพ มีผลให้นักลงทุนเริ่มลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิเช่นทองคำและพันธบัตรรัฐบาล โดยล่าสุดทองคำได้ปรับตัวลดลงมาอยู่แถวระดับ 1,770 เหรียญดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักต่างปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกช่วงอายุสอดคล้องกับปัจจัยในต่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าถึงแม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มของตลาดโลก แต่ถ้าพิจารณาปัจจัยในประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่าการปรับตัวขึ้นอาจจะเป็นไปอย่างจำกัด โดย ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.49% 0.54% 0.63% 0.89% 1.18% และ 1.50% ตามลำดับ

โพเวลแถลงต่อสภาคองเกรส และสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ลงมติมาตรการของไบเดน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 5,366 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 486 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,689 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 163 ล้านบาท