posttoday

ผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย

17 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th

การประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19)ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

จากที่ผู้เขียนได้ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของประเทศไทย โดยสรุปย่อได้ว่า โดยสถิติที่ผ่านพบว่า อัตราการติดโควิด-19 ในเด็กและอัตราการแพร่เชื้อจากเด็กยังเป็นจำนวนที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับอัตราการติดโควิด-19 ในเด็กและอัตราการแพร่เชื้อในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอนุบาลยังมีธรรมชาติที่เล่นกันมาก และอาจใกล้ชิดกับผู้สูงอายุได้ ดังนั้น อาจระวังพิเศษ โดยหากเป็นเด็กเล็กการสอบสวนโรคยังเป็นไปได้ด้วยความยากขึ้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก โรงเรียน สำคัญกับการบ่มเพาะพฤติกรรมและประโยชน์ลดอาชญากรรม และความเข้มแข็งประเทศทั้งระยะสั้นระยะยาว และยังเป็นที่แหล่งอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในเมืองและชนบท การเปิดโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก แต่นั่นหมายความว่า เมื่อเราผ่อนคลายมาก ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ยังมีมากขึ้นด้วย เราก็ยังควรไม่ประมาท โดยไม่ตระหนกจนเกินไป

ในวาระฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเล่าย่อ ๆ ถึงสาระสำคัญของงานของผู้เขียนและทีมวิจัยในเรื่อง “การประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันได้นำเสนอ(ร่าง)รายงานฉบับสมบูรณ์แล้ว และผู้เขียนขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านในการให้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในการประสานงานด้านการวิจัยและวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และร่วมกับกรมควบคุมโรค และเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ ทำงานวิชาการจัดทำข้อเสนอเชิงวิชาการต่อการป้องกัน แก้ปัญหา และรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) (ภายใต้ สำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาโดยเป็นงานจิตอาสาไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจมากและรู้สึกว่าได้มีประโยชน์ในส่วนเล็ก ๆ ของหลาย ๆ เหตุการณ์สำคัญ และดีใจมากที่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกท่านและทุกคนในประเทศทำให้ประเทศไทยเราปลอดภัยจากโควิดไม่ระบาดมากอย่างในต่างประเทศ)

ในส่วนหนึ่งของสาระสำคัญของงานวิจัยนี้ ซึ่งปัจจุบันขณะนี้ โลกของเรายังอยู่ในระยะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) หรือเดิมที่เรียกว่า Wuhan Coronavirus (2019-nCoV) มีผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลก ตามข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ. 63 เวลา 15.00 น. โดยกว่า 98% ของผู้ติดเชื้อเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,630 รายและมีผู้เสียชีวิตรวม 427 ราย โดยมีการแพร่ระบาดแล้วใน 27 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูลจากสำนักข่าวทั่วโลก) โดยได้มีผู้รักษาหายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ ณ ขณะนี้ ตามข้อมูลปีต่อมาในขณะนี้ล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.พ. 64 เวลา 06.00 น. จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 108,259,353 รายและมีผู้เสียชีวิตรวม 2,376,590ราย และรักษาหายแล้ว 80,291,415 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 25,442,047 ราย โดยมีการแพร่ระบาดแล้วใน 219 ประเทศทั่วโลก และจากข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.พ. 64 สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (27,919,151) รองลงมาคืออินเดีย (10,879,826), บราซิล (9,671,832), รัสเซีย (4,027,748), สหราชอาณาจักร (3,998,655), ฝรั่งเศส (3,385,622), สเปน (3,023,601) (ข้อมูลจากสำนักข่าวทั่วโลก)

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อถึง 1-2 แสนรายจากประชากร 30 ล้านคนในอู่ฮั่นและมีความเป็นไปได้ในการกระจายนอกประเทศจีนได้ด้วย

เมื่อ 29 กรกฎาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ประเทศทั่วโลกออกมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังชื่นชมประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

แต่ในช่วงระหว่างการพยายามจัดการกับการระบาดนี้เศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลสำหรับการเดินทางและการบริโภค และยิ่งไปกว่านั้นหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19)ยังลุกลามต่อเนื่องและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่า SARS ในปี 2546 เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจจีนเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มขึ้นจากในอดีตหลายเท่า และปัจจุบันประเทศไทยยังมีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในโลกค่อนข้างมากด้วย จึงน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงด้วย จึงเป็นประโยชน์มากหากเราจะสามารถมีการเตรียมพร้อมเพื่อการรับมือที่ดี (ทั้งนี้ประเทศส่วนใหญ่ยังมีช่องว่างนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจลงได้บ้าง)

งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) รอบแรกนี้ โดยมีการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งภาพรวมและรายสาขา เพื่อระบุสาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ และระยะเวลาทีได้รับผล รวมถึงผลกระทบที่เกิดหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถให้ข้อมูลในการเตรียมพร้อมสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายที่เหมาะสมซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติในภาพรวมได้ด้วย และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยทางผู้เขียนและทีมได้ให้ความเห็นไปตั้งแต่ช่วงมิถุนายน 2563 โดยเชื่อว่าไตรมาส 2 ประเทศไทยได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วและกำลังจะค่อยๆ ดีขึ้นในไตรมาส 3 และถัดไปหากไม่มีเหตุการณ์ระบาดรอบที่ 2 หรือเหตุการณ์ผันผวนอื่น ๆ เกิดขึ้น ถ้าสถานการณ์ยังคงเดิมโดยที่เราสามารถที่จะทยอยผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้ ซึ่งโชคดีที่ถูกต้องและเศรษฐกิจได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาส 3

จากผลการศึกษาโดยย่อ ๆ บางส่วนได้แก่ จากข้อมูลรายวันตลอดปี 2563 เราสามารถพิจารณาแนวโน้มผลกระทบจากการติดเชื้อ Covid-19 รายวันจะมีผลกระทบต่อธุรกรรมของประชาชนและการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์โดยมีผลภายในช่วง 2-3 วันแรกค่อนข้างสูงและผลกระทบจะค่อยๆ เบาบางชะลอลง ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงได้รับผลกระทบขนาดไม่สูงมากในระยะเริ่มต้นแต่กระจายตัวถึงประมาณ 10-15 วันแรกหลังจากเหตุการณ์ที่มีการติดเชื้อโควิด ในส่วนของราคาสินค้าเกษตรนั้นอาจไม่ค่อยมีผลกระทบมากนักเมื่อคิดเป็นสัดส่วนโดยเปรียบเทียบกับสาขาอื่น ๆ โดยมีความเสถียรมากกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยงานวิจัยพบว่าถ้าได้รับผลกระทบก็จะอยู่ในช่วงระยะเวลาภายใน 3 วันแรกและค่อนข้างกระจายตัวในเวลาต่อ ๆ มา

ในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้นพบว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างผันผวนจากผลกระทบหลังมีการติดเชื้อ Covid-19 โดยเฉพาะในช่วง 5 วันแรกโดยอาจมีการขึ้นและลงค่อนข้างผันผวนมากในช่วงแรกและจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สำหรับราคาทองคำนั้นรายงานวิจัยได้รายงานตั้งแต่ต้นปี 2563 แล้วพบว่าอัตราการติดเชื้อโควิดมีผลให้เกิดความผันผวนกับราคาทองคำด้วยเช่นกัน โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยก่อนและจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงในเวลาต่อมา (ซึ่งทุกท่านผู้อ่านคงจะเห็นภาพทองผันผวนอย่างไม่ค่อยปรากฎและผู้คนต่อแถวที่ร้านทองเป็นจำนวนมากด้วยในช่วงครึ่งหลังปี 2563) ในส่วนของระดับราคาน้ำมันก็มีผลกระทบได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วยเช่นกันโดยมีผลกระทบภายใน 5 วันแรกซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงก่อนและจะทยอยปรับตัวขึ้นในเวลาต่อมาได้ อย่างไรก็ตามผลกระทบทั้งหมดนี้ยังคงไม่เกิน 20 ถึง 25 วันถึง 1 เดือน ส่วนการทำธุรกิจออนไลน์และการส่ง delivery service งานวิจัยนี้ได้ประมาณการตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ 2563 ว่า transaction ส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งปัจจุบันก็เห็นภาพจริงของการสั่งของและส่งของออนไลน์เกิดขึ้นมากมายแล้วและเราคงต้องรอฟังตัวเลขจริงต่อไปว่าส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร

สำหรับภาพรวมผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่ออัตราผลตอบแทนรายสาขาทางด้านเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็พบว่าอัตราผลตอบแทนด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นในเชิงบวกสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ก็มีผลกระทบเชิงบวกสูงด้วยเช่นกัน ด้านอาหาร ด้านเครื่องจักรมีผลกระทบเชิงบวกด้วย อย่างไรก็ดีผลกระทบเชิงลบยังคงมีด้วยกับบางสาขา ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านยานยนต์ และด้านการธนาคาร กับด้านภาคการขนส่ง เช่น สายการบินและการคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน และงานวิจัยได้เรียงลำดับอัตราผลตอบแทนรายสาขาไว้ด้วย

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของร้อยละของจำนวนธุรกิจที่ตั้งใหม่ ซึ่งพบว่าภาพรวมหลายส่วนของจำนวนธุรกิจตั้งใหม่จะสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ดีมีบางส่วนที่เพิ่มเติมได้แก่ สาขาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลเป็นบวกและส่วนที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อยคือกลุ่มของยานยนต์ที่ยังคงมีการจัดตั้งใหม่แม้ว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์อาจเป็นลบ ในส่วนของธุรกิจเสื้อผ้า และสถานีบริการน้ำมันก็มีการจัดตั้งลดลงด้วยเช่นกัน ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมบันเทิงจะเป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากขึ้นด้วย โดยในหลายสาขาธุรกิจจะเป็นรายย่อยมากขึ้น

โดยสรุปย่อแล้ว การประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา พบว่ายังมีทั้งบวกและลบ และเราสามารถวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เมื่อเราสามารถปรับเปลี่ยน(อย่างน้อยชั่วคราว)ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบลบ และมาทางแนวโน้มกลุ่มที่ได้รับผลกระทบบวก โดยสามารถใช้ลักษณะของ lean production และอาจเสริมด้วยช่องทางออนไลน์มากขึ้น และในขณะเดียวกันในส่วนของทรัพยากรบุคคลก็มีการ reskill หรือ upskill เป็นต้น เสริมด้วยมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ที่เหมาะสม และทันเวลา ซึ่งผู้อ่านที่สนใจทุกท่านสามารถติดตามที่ทางผู้เขียนและทีมงานศึกษาจะได้รวบรวมรายละเอียดไว้ในรายงานฉบับเต็มต่อไป

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอสรุปด้วยภาพสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเป็นภาพที่ผู้เขียนและทีมเสนอแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2563 งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) โดยสาระสำคัญคือ แนวความคิดของการมีมาตรการต่างๆ น่าจะมีการพิจารณาถึงความสมดุลทั้ง 2 ด้านทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งสองด้านล้วนมีความสำคัญสูงมากที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันโดยเมื่อเราผ่อนคลายมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ยังมีมากขึ้นตามด้วย จึงยังต้องให้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ต้องอย่าลืมเรื่องความปลอดภัย เช่น อย่าลืมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และ บันทึกหรือจดจำพร้อมกับระมัดระวังในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ก่อนที่ทั่วโลกจะมีวัคซีนและในสถานการณ์ที่โควิด-19 ทั่วโลกสงบลงได้อย่าง100% ท้ายนี้ของสุดท้ายแล้วบทความนี้หวังว่าจะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย และยังคงความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และด้านเศรษฐกิจตลอดปีใหม่นี้