posttoday

5 ปรากฏการณ์แดนมังกร สร้างกำไรจากหุ้นบริโภค

16 กุมภาพันธ์ 2564

โดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

ประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนในประเทศจีน หรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของโลก กำลังมีรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้แต่ละบริษัทต่างจับจ้องและให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนรัฐบาลในแต่ละประเทศต้องวางแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับกับความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ ของจีน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชื่อดังอย่างบริษัท McKinsey ได้จำแนกการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การบริโภคในจีนที่เกิดขึ้นเป็น 5 ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเทคโนโลยี (Digitization), การลดการพึ่งพาสินค้าและบริการจากประเทศอื่นๆ (Declining Global Exposure), การแข่งขันอย่างรุนแรงในกลุ่มบริษัทของจีน (Rising Competitive Intensity), รูปแบบการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป (Consumers Come of Age) และบทบาทของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในภาคเศรษฐกิจของจีน (Private and Social Sectors Step up) และด้วยประเด็นเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ดำเนินกิจการที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Digitization ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนสังคมจีนจาก Offline สู่ Online ถึงแม้ประเทศจีนจะมีการใช้ธุรกิจ E-commerce เป็นที่ 1 ของโลกอยู่แล้ว (45% ของ Transaction ที่เกิดขึ้นทั่วโลก) แต่หลังจากช่วงวิกฤตในปี 2020 ประชาชนจีนกว่า 55% ยังคงมีการใช้จ่ายของจำเป็นมากขึ้นกว่าช่วงวิกฤต นอกจากนั้นการศึกษาในรูปแบบ Online ที่ไม่ได้รับความนิยมในอดีตจากทั้งผู้ปกครองและนักเรียน แต่กลับเข้าใช้บริการเรียนออนไลน์กว่า 90% ในปีที่ผ่านมา

Declining Global Exposure จากนโยบายกีดกันทางการค้าที่แต่ละประเทศใช้กดดันประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบวกกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการค้าภายในประเทศ โดยให้การสนับสนุนในด้านแรงงาน เงินทุน และเทคโนโลยี อีกทั้งลดการลงทุนในต่างประเทศลง ทำให้สัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 39% ของ GDP ในปี 2019 จาก 34% ในปี 2010

Rising Competitive Intensity การแข่งขันในภาคธุรกิจของจีนเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างมาก หลังจากการเกิด COVID-19 ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคให้กับบริษัทต่างๆ โดยในปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ราว 10% ของจีนสามารถสร้างผลกำไรให้กับระบบเศรษฐกิจถึง 90% ของประเทศ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เพียง 70% อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่ของจีนยังมีอัตราส่วนกำไรต่อเงินลงทุนสูงถึง 14.6% มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่เพียง 6.8% ทำให้ตลาดการค้าของจีนเป็นที่จับตามองของบริษัทน้อยใหญ่มากมาย บวกกับการพัฒนาด้านนวัตกรรมของจีนจะส่งผลให้ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีบริษัทใหม่ๆ ราว 64% เติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนแทนผู้เล่นในปัจจุบัน

Consumers Come of Age ประชากรจีนมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของราคาเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการสำรวจพบว่า ประชากรจีน 41% สนใจเพิ่มการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น และอีก 27% ต้องการซื้อประกันสุขภาพให้ตัวเองและครอบครัว นอกจากนั้นกว่า 70% ตั้งใจที่จะใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Private and Social Sectors Step up ในปัจจุบันภาคเอกชนของจีนมีบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยหากเปรียบเทียบสัดส่วนที่ภาคเอกชนสร้างผลประโยชน์ให้กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมระหว่างปี 1995 และ 2018 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ การจ้างงานในหัวเมืองสำคัญการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่เติบโตขึ้นอย่างมากจาก 18%, 34% และ 42% เป็น 87%, 88% และ 65% ตามลำดับ ซึ่งตัวอย่างของการเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยภาคเอกชนอย่างบริษัท Alibaba ได้เข้ามาช่วยเหลือเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยการสร้าง QR Code “Suishenma” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งใช้สำหรับการติดตาม Timeline การเดินทาง และระบุถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดย Application ดังกล่าวมียอดผู้ใช้งาน 800,000 ราย ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มเป็นถึงกว่า 10 ล้านราย ในช่วงกลางเดือนเมษายน

จากการเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 ด้านข้างต้น จะพลิกโฉมการบริโภคของประชากรจีนในอนาคต โดยสินค้าและบริการส่วนใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จะอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) อาทิ ธุรกิจ E-Commerce, Education Service, Mortor Vehicles เป็นต้น ทำให้ Bloomberg คาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Consumer Discretionary ในช่วงปี ค.ศ. 2019 - 2023 ว่าจะมีการเติบโตต่อปีของกำไรสูงถึง +29% ทบต้น (CAGR) และด้วยการเติบโตที่แข็งแกร่งของกำไรบริษัทจดทะเบียนนี้เอง ส่งผลให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กองทุน Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF (CHIQ:US) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 106.90% เปรียบเทียบกับ iShares Core MSCI China ETF (2801:HK) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 38.24% เท่านั้น (As of 21/01/2021) ตามแสดงในแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1: กราฟแสดงการเปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุน Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF (CHIQ:US) กับ กองทุน iShares Core MSCI China ETF (2801:HK) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (As of 21/01/2021) 5 ปรากฏการณ์แดนมังกร สร้างกำไรจากหุ้นบริโภค ที่มา: Bloomberg

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 ด้านในจีน เปิดโอกาสให้กับบริษัทในกลุ่ม Consumer Discretionary ตลอดจนนักลงทุนในตลาดหุ้นที่จะสามารถได้รับประโยชน์และผลตอบแทนที่คุ้มค่าไปพร้อมๆ กับการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน