posttoday

ความท้าทายและมุมมองตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564

11 กุมภาพันธ์ 2564

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ในปี 2563 ที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้ไทยต้องเผชิญกับความผันผวนตลอดทั้งปี เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นวงกว้าง และยังไม่มีแนวทางการรักษาจนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดดอกเบี้ยลงมาในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงรุกด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ต่อปี เหลือ 0.00% ต่อปี และประกาศทำอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน หรือ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนปรับลดลงทุกช่วงอายุนับจากต้นปี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% จาก 1.25% ต่อปี เหลือ 0.50% ต่อปี

แม้เราจะก้าวข้ามผ่านปี 2563 มาแล้ว แต่ไวรัส COVID-19 ยังคงวนเวียนอยู่และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น ในกรณีพื้นฐานมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 อยู่ในช่วง 2.0%-3.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำในกรอบ 1.0%-1.2% แม้จะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 จากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวกลับมาแต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในด้านต่ำ หากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยืดเยื้อและรุนแรง จนเกิดการล็อคดาวน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันคาดว่าจะมีการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปีก็จะไม่เป็นไปตามคาด

สำหรับการลงทุนนั้น ผลพวงของโรคระบาด COVID-19 ยังคงมีผลต่อการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง ได้แก่ พัฒนาการของวัคซีน COVID-19 และ การใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกัน COVID-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง สำหรับประเทศไทยนั้นทางการคาดว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันในช่วงกลางปี 2564 และหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยประมาณ 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ หากวัคซีนที่ออกใช้มีประสิทธิผลในการป้องกัน COVID-19 ต่ำกว่าที่คาด หรือไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าเดิมได้หรือมีผลข้างเคียงรุนแรง นอกจากนี้การกระจายและการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยหากทำได้อย่างล่าช้า อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นได้เร็วตามที่คาด และในกรณีเลวร้ายของไทยอาจหมายถึงประเทศจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะโตติดลบได้ และเป็นไปได้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงได้

ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยเรายังมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายทางการคลัง

ยังคงมีความจำเป็นเพื่อพยุงและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากที่นโยบายทางการเงินได้ถูกใช้แบบเกือบหมดกระสุนกันในหลายประเทศแล้ว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องติดตามความคืบหน้าการอนุมัติวงเงินโครงการและความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมทั้ง นัยต่อปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลตามที่แผนที่วางไว้ด้วย ทั้งนี้หากมีการเบิกจ่ายเร็วขึ้นก็มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะปรับขึ้นแบบเร็วขึ้นได้

จากมุมมองข้างต้น เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะชันขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ระดับต่ำ จากการเริ่มใช้วัคซีนและความหวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาในปลายปีนี้ แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและนโยบายการเงินยังคงมีความจำเป็น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่สร้างความกดดันต่อการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวมีโอกาสจะปรับเพิ่มขึ้น โดยความเร็วในการปรับขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่ความสามารถในการเบิกจ่ายของภาครัฐฯ และแผนการหาแหล่งที่มาของเงินงบประมาณ โดยในปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีความพยายามในการกระจายแหล่งที่มาของเงินกู้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดตราสารหนี้