posttoday

ข้อคิดจากเพื่อนเก่าคนเคยผ่านปี 2540 และแนวทางของคนรุ่นต่อไป

08 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 7/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เครดิตบูโร

บทความวันนี้ เกิดขึ้นจากความพยามที่จะค้นหาหนทางให้กำลังใจกันและกันของผู้คนที่เริ่มมีอายุมาก (เกินกว่า 50 ปี) แน่นอนว่าคนในวัยนี้ต้องผ่านประสบการณ์ปี 2540 ปีแห่งการเริ่มวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และนำไปสู่ปัญหาสังคมในเรื่องความมั่นคงในการดำรงชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จนมีใครหลายคนระลึกถึงในช่วงปีเผาจริง-เผาหลอก (2542-2543) ว่าในเวลานั้น 2 สิ่งที่ต้องจัดหาก็คือ "อาวุธปืนกับตู้เซฟ" สภาพของการล้มลงของกิจการ การหาสินเชื่อมาเป็นเงินหมุนเวียนกิจการได้ยากมากๆ การหยุดและเลิกกิจการ การเลิกจ้างและการว่างงาน การกลับคืนถิ่นในต่างจังหวัดโดยอิงกับรากฐานชีวิตเดิมคือเกษตรกรรม การเปิดท้ายขายของด้วยการเอาสิ่งที่ไม่จำเป็น เกินการดำรงชีวิตเอาออกมาขายเพื่อเก็บเป็นเงินสด ตามสถานที่ต่างๆ ของคนเมือง

ในตอนนั้นเรามีคนเคยรวย คนที่กินหูฉลามทุกวันจนครีบจะขึ้น มีงานฉลองหุ้นขึ้น ขายที่ดินได้ กำไรจากการขายใบจองหุ้น IPO แต่ในท้ายที่สุดหลายคนหลายท่านก็ค้นพบความจริงว่า หลังปี 2540 ในปี? 2542 ข้าวต้มร้อนๆ ผัดผักบุ้งหนึ่งจาน ถั่วลิสงทอดจากฝีมือคู่สมรส ในมื้ออาหารกับคนในครอบครัวคือสิ่งสามัญที่ดีที่สุด ธรรมดาที่สุดแต่มีความสุขที่สุด

ใครที่ไม่รอดจากคลื่นวิกฤติระลอกนั้นก็ต้องล้มละลาย ขายทรัพย์แลกหนี้ ครอบครัวบางแห่งต้องแยกกันไป สามีหนีหนี้ ภรรยาพาลูกไปเลี้ยงดูที่บ้านญาติ ต้องก้มหน้ากับการดูหมิ่นเพราะหมดทางต้องไปเกาะชายคาคนอื่น บ้างก็ทุกข์จนโรคภัยมาพรากไป ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนบางคนก็รับสภาพตัวเองไม่ได้ปลีกหน้าจากเพื่อนฝูง ไม่มางานเลี้ยงรุ่นโรงเรียนอีกเลยจนถึงวันนี้

หลายท่านในวันนี้ได้กลายเป็นผู้บริหารองค์กร เป็นผู้คุ้มกฎกติกา เป็นคนคิดคนสร้างนโยบาย เป็นคนขับเคลื่อนมาตรการ ผู้เขียนได้แต่รำพึงรำพันในป่าช้าว่า คนรุ่นเราที่บอกกับตัวเองว่าผ่านสงครามเศรษฐกิจวิกฤติเศรษฐกิจ น้ำท่วมใหญ่ Global Financial Crisis การขัดแย้งทางการเมืองชนิดเผาบ้านเผาเมือง วิกฤตินโยบายประชานิยม รัฐประหาร จนมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน คนรุ่นเรานี้ "เรากำลังทำอะไรอยู่ เราจะส่งมอบสิ่งดีๆ ต่อให้กับลูกหลาน หรือเรากำลังส่งระบบนิเวศที่เสียหาย ทรุดโทรม ไม่มีประสิทธิภาพ วัฒนธรรมแบบ NATO : No Action Talk Only หรือแม้กระทั่ง โกงให้ได้ ถ้าอายก็อด ให้คนรุ่นถัดไป คิดเหรอว่าคนรุ่นถัดไปเขาจะไม่รู้เท่าทันว่า คนรุ่นที่กำลังดูแลสังคม เศรษฐกิจ การค้าขายในวันนี้กำลังทำอะไรกับอนาคตของพวกเขา คำถามที่รอคำตอบในรูปการกระทำ กิจกรรมที่ต้องทำ มันได้ออกมาอย่างเพียงพอเหมาะสมแล้วหรือไม่

เพื่อนโรงเรียนเก่าระดับมัธยมของผู้เขียนที่ปลีกวิเวกจากการเป็นมนุษย์ทองคำไปอยู่แถวดอยอินทนนท์ สร้างโรงบดกาแฟ โรงสีข้าว ทำนาข้าวแบบลงไปดำไปหว่านไปเกี่ยวกับชาวบ้าน ตามแนวทางในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกกับผู้เขียนว่ายามนี้... มีเหลือให้แบ่งปัน…ขัดสนให้อดทน…ทุกข์สอนให้เรารู้จริงแท้ในสรรพสิ่งหาใช่สุขไม่…อายุมากขึ้นจึงรู้ว่า สังขารคือทุกข์กองโต ที่เราหลงแบกไว้มานาน…กินอิ่ม นอนหลับ ขับถ่ายสบาย เท่านี้ก็พอ

อีกคนหนึ่งทำธุรกิจร้านอาหารในซอยทองหล่อ ได้บอกกับผู้เขียนว่า... ทุกวงการและทุกธุรกิจในเวลานี้ ต้องหนีตายไม่ก็ยืนตาย หรืออยู่กับความตาย สุดท้ายต้องช่วยกันเอง ต้องช่วย ต้องให้กันและกัน (เจ้าของ-ลูกจ้าง) จนลมหายใจสุดท้ายของทุกคน

นอกจากนี้ เขาในฐานะเจ้าของกิจการ เป็น SME ได้ฝากข้อความถึงเพื่อนๆ ที่พอมี และมีพอแบ่งปัน เสื้อผ้าที่เลิกใช้ของตัวเองและครอบครัวแล้ว เขาขอรับบริจาคเพื่อให้น้องๆ ลูกจ้างของพวกเขาได้นำไปใช้ต่อหรือนำไปขายหาเงินได้ต่อชีวิตได้ช่วงนี้อีกทางหนึ่ง

ผู้เขียนขอจบด้วยข้อคิด ความเห็น แนวทางของคนรุ่นต่อไป คนเก่ง ฉลาด มีความคิดความอ่านที่ก้าวหน้า จากงานของวันเกิดของ Post Today ครบรอบ 18 ปี ได้แก่ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ได้กล่าวถึงสิ่งที่เราควรจะทำ และต้องทำ เพื่อเผชิญกับอนาคตที่ผกผัน ไร้รูปแบบให้จับทาง เปลี่ยนแปลงเร็ว คาดเดาไม่ได้ และมีความรุนแรงทั้งทางบวกและลบดังปรากฏในภาพ

ข้อคิดจากเพื่อนเก่าคนเคยผ่านปี 2540 และแนวทางของคนรุ่นต่อไป

ขอบคุณที่ให้ความสนใจติดตามครับ