posttoday

ติดตามการกระจายวัคซีนและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

08 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 29.90-30.30 ตลาดการเงินยังคงติดตามแนวโน้มการกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกและการตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ในสภา รวมทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ซึ่งยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่จีดีพีของสหราชอาณาจักรและมาเลเซียที่มีกำหนดประกาศในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มหดตัวในไตรมาสที่ 4 ด้านนโยบายการเงิน นักลงทุนรอติดตามคำแถลงของประธานเฟด เจอโรม โพเวล และประธานอีซีบี คริสติน ลาการ์ด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ขณะที่ตลาดการเงินจีนมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนหน้าวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ จากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตอบรับกับความคาดหวังแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ สัญญาณที่แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของสมาชิกเฟด และเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย ส.ว. เดโมแครตผลักดันให้ร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอโดยไบเดนเป็นวาระเร่งด่วน ทำให้การลงมติต้องการเพียงเสียงข้างมากเพื่อให้ผ่านร่างกฎหมาย แทนที่จะใช้เกณฑ์ 60 เสียงเช่นกฎหมายส่วนใหญ่ ทำให้ร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เป็นไปได้มากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.74 แสนตำแหน่งในเดือนมกราคม มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 7 หมื่นตำแหน่ง และดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (ISM) เร่งขึ้นมาขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 58.7 ในเดือนมกราคม ด้านโควิด-19 จำนวนผู้รับวัคซีนในสหรัฐฯ มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว ในส่วนของไทย กนง. มีมติคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตามคาด เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านนโยบายการเงินที่จำกัด เพื่อใช้ในยามเหมาะสม โดยประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิดรอบใหม่ไม่รุนแรงเท่ารอบก่อนเนื่องจากมาตรการปิดเมืองเข้มงวดน้อยกว่า และรัฐออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุด สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. เตรียมเริ่มการลงทะเบียนนักลงทุนตราสารหนี้ระยะที่ 1 เดือนตุลาคมนี้ โดยจะใช้กับนักลงทุนต่างชาติก่อน โดยเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 30.08 ณ สิ้นวัน (เวลา 17.00น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากภาวะตลาดที่เข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงจากประเด็นความหวังที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะเร่งผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์โดยเร็ว ส่งผลให้เกิดแรงขายในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและพันธบัตรรัฐบาล โดยล่าสุดทองคำได้ปรับตัวลดลงมาอยู่แถวระดับ 1,800 เหรียญดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักต่างปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ระยะห่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือที่เราเรียกว่า government bond spread อายุ 2ปี กับ 10ปี ปรับตัวกว้างขึ้นอยู่ระดับ 1.03% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2017 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของตลาดที่คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อกำลังจะปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐที่มีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของตลาดโลกและมีประเด็นสำคัญภายในประเทศอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 3 ก.พ. 64 ที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการมองว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า รวมไปถึงตลาดคาดการณ์ว่านโยบายการเงินอาจถูกผ่อนคลายเพิ่มเติมผ่านเครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ย ซึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เพื่อเป็นการส่งผ่านให้ธนาคารพาณิชย์มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชนปรับตัวลดลง ซึ่งนักลงทุนคงต้องติดตามถึงความคืบหน้าต่อไป โดย ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.44% 0.47% 0.55% 0.77% 0.99% และ 1.33% ตามลำดับ ขณะที่ความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นกู้ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น credit spread ได้ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 10 bps ในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA ถึง BBB+ สะท้อนมุมมองตลาดของหุ้นกู้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ให้ yield pick-up จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ค่อยข้างต่ำในปัจจุบัน

ติดตามการกระจายวัคซีนและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 5,462 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,862 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,610 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 10 ล้านบาท