posttoday

เศรษฐกิจติดโควิดเรื้อรัง : ทิศทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของตลาดแรงงานไทย

02 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เรื้อรัง แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกแรกในช่วงปีที่แล้ว แต่จากสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาบทบาทของการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยถดถอยน้อยกว่าที่คาดไว้ตอนแรก โดยข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจไทยปี 2563 น่าจะหดตัวในช่วงร้อยละ -6.0% ถึง -6.6% ซึ่งดีกว่าที่หลายๆ หน่วยงานเคยพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวประมาณร้อยละ -8 ถึง -12 ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิดในไทยระลอกแรกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา (ผลการพยากรณ์ของนิด้าในข่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2563 จะหดตัว -6.8%)

แม้ว่า ในปัจจุบัน จะมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีระดับหนึ่งในสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน แต่การผลิตและการแพร่กระจายวัคซีน ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากความต้องการที่สูงจากทุกประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ การระบาดระลอกใหม่ของโรควิดในไทยปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาจากช่วงสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงหลังของปี 2563 ชะลอตัวลงอีกครั้งตามมาตรการควบคุมการระบาดที่ใช้ และตามการชะลอการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนจากภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น จากการพยากรณ์โดยแบบจำลองเศรษฐมิติมหภาค สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คาดว่าเศรษฐกิจกิจไทยในปี 2564 น่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ซึ่งหากไม่มีการระบาดรอบใหม่ และเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว ต่อเนื่องจากในปลายปี 2563 ค่าพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.0

ซึ่งค่าพยากรณ์นี้จะแม้ว่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์โดยหน่วยงานอื่น ๆ ที่เพิ่งปรับค่าพยากรณ์ลงหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างร้อยละ 2 ถึง ร้อยละ 3 (ค่าพยากรณ์ของ IMF ในอาทิตย์ที่ผ่านมาคาดการณ์การเติบโตของไทยในปีนี้ (2564) ที่ร้อยละ 2.7 ลดจากที่คาดการณ์ในครั้งที่แล้ว ซึ่งพยากรณ์อัตราการเติบโตของไทยในปี 2564 ที่ร้อยละ 4.0) เนื่องจากการประเมินล่าสุด แม้ว่าสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันจะยังคงมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดมีการกระจุดตัวในกลุ่มแรงงานต่างชาติ และกลุ่มเสี่ยงที่สามารถระบุกลุ่มก้อนได้ชัดเจนขึ้นกว่าการระบาดในปีที่แล้ว นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งธุรกิจเอกชนและประชาชนทั่วไป มีการเตรียมพร้อมในการปรับตัวในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ดีขึ้น ทำให้มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้สามารถผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นจากแนวโน้มล่าสุดในอาทิตย์ที่ผ่านมาซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายๆ ธุรกิจ และนอกจากนี้ความสามารถในการระบุพื้นที่เสี่ยงที่ดีขึ้น ทำให้การ lock-down สามารถทำได้เฉพาะในบางพื้นที่เสี่ยง ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงน้อยกว่าการระบาดในรอบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวโน้มของผลทางเศรษฐกิจจากการระบาดของงโควิด-19 ระลอกใหม่ และผลจากมาตรการ lock-down ในปัจจุบัน น่าจะไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ แต่ผลจากการชะลอตัวในปี 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวในปี 2565 ที่ผมพยากรณ์ไว้น่าจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 5.5 ทำให้ระดับ GDP ในไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังต่ำกว่า แนวโน้มการขยายตัวตามศักยภาพดังรูปด้านล่างอยู่มากพอสมควร

เศรษฐกิจติดโควิดเรื้อรัง : ทิศทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของตลาดแรงงานไทย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบาทของแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2563 ถึง ปี 2564 บทบาทภาครัฐผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นจากตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาครัฐบาลที่เป็นองค์ประกอบของ GDP ที่ขยายตัวในอัตราสูง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2565 ภาครัฐควรจะทยอยลดบทบาทลงเพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังและควบคุมระดับหนี้สาธารณะ ดังนั้น การลงทุน และการส่งออก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อเป็นองค์ประกอบหลักในการผลักดันการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมีข้อจำกัดตามผลจากการระบาดของโรคโควิด ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาด หรือในกรณีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีข้อจำกัดจากการปรับตัวของธุรกิจในยุค 4.0 ซึ่งธุรกิจปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตและจำหน่ายสินค้า ซึ่งแนวโน้มนี้ถูกกระตุ้นให้มีพัฒนาการที่เร็วขึ้นจากการ lock-down ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับเทคโนโลยีในห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย เช่น รถยนต์ที่ปรับตัวสู่ยานยนต์ที่ใช้ไฟ้ฟ้า (EV) หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่ปรับตัวสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายตัวได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวไม่เฉพาะจากภาคธุรกิจผ่านการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต แต่ภาคแรงงานก็จำเป็นต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้สูงที่ต้องการคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทีต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะด้านดิจิทัล หรือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นความท้าทายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการปรับตัวของภาคแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ปรับตัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ไทยได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นประเด็นต้นกำหนดของวิกฤต ดังนั้นผมคิดว่าวิกฤตครั้งนี้ คงไม่เกินความสามารถของธุรกิจและแรงงานไทย ในการผ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

เศรษฐกิจติดโควิดเรื้อรัง : ทิศทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของตลาดแรงงานไทย