posttoday

ติดตามสัญญาณจากการประชุมนโยบายการเงิน ธปท.

01 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, พินทุ์ณาดา กิตติวาณิชย์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 29.80-30.20 ตลาดการเงินยังคงติดตามแนวโน้มการกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกและการตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ในสภา รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคการเกษตรว่าจะสามารถกลับมาเพิ่มขึ้นได้หรือไม่หลังจากการปรับลดลงในเดือนธันวาคม และตัวเลขจีดีพีของยูโรโซนที่ตลาดคาดว่าจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 4 จากผลของมาตรการปิดเมืองเพิ่มจำกัดการระบาด ด้านนโยบายการเงิน จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ออสเตรเลีย และไทยในสัปดาห์นี้ โดยตลาดคาดว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังจากที่มีการขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อลดทอนผลกระทบจากการระบาดของไวรัสรอบใหม่ในไทย

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบที่ 29.90 – 30.10 เนื่องจากไม่มีปัจจัยตลาดกำหนดทิศทางของตลาด นักลงทุนลดความคาดหวังที่มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รอบใหม่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์จะออกมาเร็ว โดยมีแนวโน้มใช้เวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ หรือประมาณกลางเดือนมีนาคม ด้านการประชุมนโยบายการเงินของเฟดระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2021 เจอโรม โพเวล ประธานเฟด ลดความคาดหวังที่เฟดจะหยุดมาตรการซื้อสินทรัพย์ในปีนี้ โดยกล่าว่ายังเร็วเกินไปที่จะเริ่มลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ และจะคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน จนกว่าจะเศรษฐกิจจะมุ่งสู่เป้าหมายการจ้างงานและเงินเฟ้ออย่างชัดเจน และยังไม่ปรับสัดส่วนการซื้อสินทรัพย์จากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อจำนองค้ำประกันที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านยุโรป เงินยูโรมีปัจจัยกดดันหลังจากนายกรัฐมนตรีอิตาลี กูเซปเป้ คอนเต้ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อขยายฐานคะแนนในสภา โดยจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อเลี่ยงการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ประธานอีซีบี คริสติน ลาการ์ดแถลงว่าอีซีบีดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินไปอีกยาวนาน

ด้านไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นเราชนะ วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจำหน่ายเป็นวันแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แบ่งเป็น รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2% รุ่นอายุ 10 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% และรุ่น 15 ปี (จำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.8% ทั้งนี้ จะใช้วงเงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ สบน. ยืนยันแผนวงเงินก่อหนี้รวม 2.3 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2021 ซึ่งในจำนวนนี้ รวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฯ ทั้งจำนวนไว้แล้ว อีกทั้งยังคงขนาดการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond switching) ที่ 1.4 แสนล้านบาท แม้ว่าจะระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวในช่วงต้นเดือนหน้าไปแล้ว ส่วนการส่งออกไทยตามระบบศุลกากรเดือนธันวาคมขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 4.71%YoY จากที่หดตัว 3.65%YoY ในเดือนก่อน ขณะที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 1.35%YoY โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยชั่วคราว ให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ธปท. รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดไทย เดือนธันวาคม 2020 ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่สองที่ -693 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนที่ -1.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลมากกว่าที่ตลาดคาดที่ -600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยฉุดหลักมาจากดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาที่ -3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีการนำเข้าทองสุทธิที่ 152 ล้านดอลลาร์

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีค่อนข้างผันผวนจากประเด็นที่นักลงทุนต่างจับตามองคือการประชุม FOMC ในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งปรากฏว่า FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินว่าทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะข้างหน้าจะยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกับกล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวอเมริกันหลายล้านคน อีกทั้งสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปิดสัปดาห์อยู่ที่บริเวณ 1.07%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ คุณแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2564 กระทรวงการคลังจะทยอยกู้เงินเพื่อมารองรับโครงการเราชนะ จ่ายเงิน 3,500 บาท นาน 2 เดือน ซึ่งเริ่มจากการกู้เงินทั้งเครื่องมือระยะสั้น อาทิ การกู้เงินผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN), พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรออมทรัพย์ โดยล่าสุดได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ "เราไม่ทิ้งกัน" วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท โดยภายในระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.2564) จะทยอยกู้เงินวงเงินรวม 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้คือเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ซึ่งจะมีการทยอยกู้เงินจนครบวงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะกู้ให้เต็มวงเงินภายในเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งที่ผ่านมาได้กู้เงินแล้ว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้แผนการกู้เงินของสบน. ดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อตลาดตราสารหนี้มากนัก เนื่องจากใช้ช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลายและอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลจะออกเพิ่มในตราสารอายุสั้นคือตั๋วเงินคลังซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบกับตลาดมากนัก โดย ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.41% 0.45% 0.52% 0.71% 0.94% และ 1.30% ตามลำดับ

ติดตามสัญญาณจากการประชุมนโยบายการเงิน ธปท.

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 804 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 472 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 162 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 804 ล้านบาท