posttoday

โรคห่ากินปอดมันไปตามคน เราควรจัดการรายคนดีกว่าปิดสถานที่เพื่อยังทำมาหากินได้

11 มกราคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 2/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านข้อคิดข้อเขียนของท่านอาจารย์หมอ ที่ให้ข้อคิดน่าน่าสนใจมากๆ ว่าสนใจการแยกแยะว่าบุคคลท่านใดมีความเสี่ยงเพื่อดำเนินการออกจากคนหมู่มากที่ยังไม่มีประเด็นเพื่อให้การทำมาหาเลี้ยงชีพเดินหน้าปะทะปะทังไปได้ดีกว่าหรือไม่

ท่านอาจารย์หมอ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ว่า ปิดสถานที่ ปิดเมือง ปิดจังหวัด ปิดประเทศ ทำง่าย แต่ธุรกิจพินาศ ทางเลือก ปิดเป็นคนๆ ที่ติดเชื้อไม่ดีกว่าหรือ ยังไม่ถึงเวลาปิดประเทศ

มาตรการ 5 วันตรวจเลือด 2 ครั้ง นี่คือปิดเป็นคนๆ ไม่ใช่ปิดจังหวัด ปิดพื้นที่ ปิดประเทศ หากเรายอมใช้มาตรการเชิงรุกโดยภาครัฐดำเนินการอย่างเต็มที่ เชื่อว่าการปิดแบบสร้างผลกระทบรุนแรงคงไม่เกิดขึ้นแน่นอน ผมอ่านแล้วมีความเห็นด้วย และขอนำข้อมูลมาถ่ายทอดต่อ เพื่อให้ท่านผู้อ่านลองคิดต่อ ยามนี้เราต้องช่วยๆ กัน

มาตรการที่อาจารย์หมอกล่าวถึงมีดังนี้ครับ

1. กลุ่มคนเสี่ยง เช่น แรงงานต่างชาติไม่ว่าจังหวัดใดก็ตาม ต้องแยกห่างจากกันเป็นรายบุคคล (ย้ำว่ารายบุคคล)

2. การจัดการให้มีการแยกตัวจากกันนั้นยังคงต้องกระทำจนกระทั่งแน่ใจแล้วว่า คนนั้นไม่มีการติดเชื้อแพร่เชื้อจริง (ไม่ให้สร้างเรื่องขึ้นมาอีก)

3. เริ่มกระบวนการคัดกรองแบบใหม่ (ผู้เขียนขอย้ำว่าคิดใหม่ ทำใหม่) หมด เจาะเลือดปลายนิ้ว 2 ครั้ง ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 5 วัน แต่ในระหว่างนั้นยังคงต้องแยกตัวระยะห่าง ถ้าผลเลือดเป็นลบในครั้งที่สอง โอกาสที่จะติดเชื้อน้อยลง จนอาจไม่มี (ผู้เขียน การแยกปลาออกจากน้ำคัดกรองแบบชัดเจน)

4. ในกรณีที่ผลเลือดเป็นลบเพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดกันไม่ให้เชื้อออกจากตัวให้บังคับใส่หน้ากาก มีการกำชับระยะห่างและต้องล้างมือต่อเนื่องต่ออีกจนครบ 14 วันแต่ไม่ถูกกักเดี่ยว (มาตรการบังคับขั้นพื้นฐาน)

5. ในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวก ให้เข้ากระบวนการแยงจมูกตรวจละเอียด 14 วัน 3 ครั้งคือ วันที่ 1 7 และ 14 จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่พบเชื้ออย่าหมดจด

6. มีการแยกตัวออกจากคนอื่น ไม่ต้องแยงจมูกหาเชื้อใดๆ ทั้งสิ้น มีคนส่งน้ำส่งข้าวให้ สังเกตอาการหากมีอาการต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล (เฝ้าระวังใกล้ชิด)

7. นี่คือมาตรการเชิงรุกจริงๆ การตรวจปลายนิ้วน่าจะมีต้นทุนครั้งละ 100 บาท ต้องเป็นมาตรการเชิงรุก ขยายทั่วประเทศ รวมคนไทยและไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่ไปสมุทรสาคร แต่ไปให้ครอบคลุมมากที่สุด

8. เงินที่จะเอามาสนับสนุนการตรวจเชิงรุก หากใครมีกำลังทรัพย์ออกเอง เช่น โรงงาน กิจการห้างร้าน ถ้าไม่มีเราต้องช่วยกันสมทบทุนอาจใช้เงินผ่านมูลนิธิ โดยอาจไม่ต้องเบียดงบกลางของประเทศ

อาจารย์หมอสรุปไว้ตอนท้ายน่าสนใจว่า... ที่กล่าวมานี้แน่นอนไม่ใช่ 100% รับประกัน แต่แน่นอนว่าไม่ถึงต้องปิดประเทศ และถ้าเรามีวินัยร่วมด้วย

ในฐานะคนที่นำมาถ่ายทอดต่อต้องขอบอกว่า คิดใหม่ ทำเร็ว มีวินัย ใจมั่นคง ยืนให้ตรงกับความเป็นไป ไทยชนะแน่นอนครับ