posttoday

วิกฤตเศรษฐกิจ การช่วยเหลือเด็ก กับโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม

30 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; sasatra.blogspot.com

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ย่อมซ้ำเติมบาดแผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบก่อนหน้า และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ งานศึกษาที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจการเงินสหรัฐฯ ในช่วงปี 2007-2009 พบว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กกว่า 8.1 ล้านคน ต้องอยู่ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อพ่อ แม่ หรือบุคคลในครอบครัวย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเด็กอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย (ไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์) อาทิ

1) ปัญหาเด็กยากจน โดยมีเด็กจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นเด็กยากจน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนในเด็กที่จะมีขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า การลงทุนในเด็กเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญมาก โดยเป็นหนทางหนึ่งที่ดีที่สุดที่ช่วยประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ในระยะยาว เติบโตได้อย่างทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมในด้านโอกาส และยุติความยากจนได้

2) ปัญหาเด็กไร้บ้าน การสูญเสียงานและรายได้ของพ่อแม่อาจทำให้เด็กหลาย ๆ คนต้องกลายเป็นเด็กไร้บ้าน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของเด็ก

3) ปัญหาต่อโอกาสในการศึกษาของเด็ก เมื่อเด็กประสบภาวะยากจน ย่อมส่งผลทั้งต่อโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นบังคับ

4) ปัญหาการทารุณกรรมเด็ก สืบเนื่องจากปัญหาจากความยากจนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของเด็กแย่ลงและเอื้อให้โอกาสในการทารุณกรรมเด็กเพิ่มขึ้นได้ โดยงานศึกษาที่ผ่านมาก็พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว

เด็ก โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จึงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่จบสิ้น

เมื่อลองมองไปที่โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social safety nets) ต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากจน หรือกลุ่มที่มีความเปราะบาง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจดังเช่นเวลานี้ ตัวอย่างของโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเด็ก (หรือครอบครัวที่มีเด็ก) ที่เรามี ได้แก่

1) โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด - 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งเป็นลักษณะของโครงการแจกเงินแบบมีเงื่อนไข (Conditional cash transfer) แต่สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี และกำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนที่ยังต้องการการเลี้ยงดู โดยเฉพาะที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน เรามีมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือการเลี้ยงดูเด็กในกลุ่มนี้หรือไม่?

2) โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน โดยรัฐบาลมีการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน (และโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน) โดยเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันจำนวน 245 วัน/ปี และเด็กอนุบาล ไปจนถึง เด็ก ป.6 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวัน จำนวน 200 วัน/ ปี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดและมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ที่โรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้ ก็จะจ่ายค่าอาหารกลางวันให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อนำไปจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานที่บ้าน

ไม่ว่าอย่างไรก็ดี โครงการอาหารกลางวันโรงเรียนถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนค่าอาหารกลางวันเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กไปโรงเรียน แต่หากเป็นช่วงเวลาที่เด็กไม่มีเรียน เด็กก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านอาหาร การได้รับสารอาหารที่เพียงพอสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเปิดเทอมหรือปิดเทอม เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนำไปสู่การมีสุขภาพและโภชนาการที่ดี ลดการเจ็บป่วย เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และช่วยในด้านการเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้น จึงน่าคิดต่อว่า โครงการอาหารกลางวันจะสามารถนำมาต่อยอดหรือพัฒนาให้ครอบคลุมช่วงเวลาอื่น ๆ (เช่น ช่วงเวลาปิดเทอม) ได้หรือไม่? การสนับสนุนอาจทำได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน/คูปองเพื่อซื้ออาหาร เช่น โครงการแสตมป์อาหาร (Food stamps) ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผูกกับเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือตกแก่ผู้ยากจนอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการช่วยเหลือทางด้านอาหารแก่เด็กจะเป็นโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมอย่างดีแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย

งานศึกษาของ World Bank ในปี 2009 ก็ชี้ไปในทางเดียวกัน โดยโครงการอาหารโรงเรียนสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่ยากจน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้สามารถนำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น รวมทั้งช่วยลดปัญหาความยากจนของครัวเรือน โดยโครงการอาหารโรงเรียนจึงได้ถูกพิจารณาว่า มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งในระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยทำหน้าที่สร้างโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยสร้างความมั่นคงทางการศึกษาและสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในทุนมนุษย์ได้

3) สิทธิทางภาษีในการค่าลดหย่อนบุตรที่ได้ 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน แต่สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือไม่อยู่ในระบบภาษี ก็อาจไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้เลย

ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะพอมีโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเด็กหรือครอบครัวที่มีเด็กอยู่บ้าง แต่ก็อาจมีค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุมเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้ทุกช่วงเวลาและทุกช่วงวัย

สำหรับมาตรการภาครัฐอื่น ๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด โดยเมื่อพิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะที่ 1 ถึง 3 ที่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการโดยทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อรักษาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น การบริโภค แต่ดูเหมือนมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเด็กหรือครอบครัวที่มีเด็กเป็นการเฉพาะ และมาตรการที่ช่วยประคับประคองให้การลงทุนในเด็กเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จะยังขาดหายไปในปัจจุบัน

การลงทุนในเด็ก ซึ่งเริ่มต้นจากช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนระยะยาวประเภทหนึ่งที่ส่งผลต่อปัจจัยทุนมนุษย์ของประเทศต่อไปในอนาคต หากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดูจะยังไม่จบสิ้นในช่วงเวลาอันใกล้ มีผลให้การลงทุนในเด็กชะลอหรือลดลงไป ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ติดตามขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สุขภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลลบต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวได้

ดังนั้น คงจะดีไม่น้อย ถ้าในปี 2564 รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะหันมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากขึ้นกับมาตรการหรือโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ ดูแลเด็กหรือครอบครัวที่มีเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้น้อย ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงในระยะยาว เพราะเด็กที่เติบโตขึ้นในวันนี้จะเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า เด็กจึงควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เขาได้รับโอกาสในการเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

อ้างอิงBundy, Donald, Burbano, Carmen, Grosh, Margaret, Gelli, Aulo, Jukes, Matthew, Drake, Lesley, 2009, Rethinking School Feeding Social Safety Nets, Child Development, and the Education Sector, World Bank.