posttoday

มุมหนึ่งที่น่าคิดของการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มสินเชื่อบางประเภท

07 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 49/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ในการหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สร้างความกดดันให้กับผู้คน จากการได้ลงไปทำงานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา พบข้อเท็จจริงบางประการว่า ลูกหนี้กลุ่มอาชีพนี้มีหนี้สินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ที่บริหารจัดการด้วยผู้คนในแวดวงอาชีพเดียวกัน หลายท่านอาจไม่ทราบว่าจากการรวบรวมตัวเลขของคณะผู้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพบว่า คุณครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูประมาณ 800,000 ล้านบาท และก็ยังมีสถาบันการเงินของรัฐให้สินเชื่ออีกหลายแห่งรวมๆกันประมาณ 600,000 ล้านบาท รวมแล้วเบ็ดเสร็จประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

อันนี้เฉพาะอาชีพเดียว สินเชื่อเงินหักหน้าซอง/สินเชื่อสวัสดิการ มันได้ตามมาหลอกหลอนท่านที่เป็นลูกหนี้มาก เพราะพอเงินเดือนออก จะมีรายการชำระหนี้เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์มารอตัด ตามด้วยสินเชื่อสวัสดิการที่หน่วยงานต้นสังกัดไปร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐเอามาให้คุณครูกู้ เป้าหมายอาจสวยหรูว่าเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างอาชีพเสริม หากแต่ว่าในความจริงแม้มีกติกาว่า การจะหักเงินเดือนหน้าซองจะต้องเหลือเงินเข้าซองไม่น้อยกว่า 30% คิดง่ายๆคือเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน หักชำระหนี้ได้สูงสุด 21,000 บาทต่อเดือน เหลือเข้าซอง 9,000 บาทต่อเดือน ไอ้ที่เข้าซองไปก็ต้องมีหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล อีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องไปจ่ายเจ้าหนี้เขา กติกาหรือระเบียบนี้ก็มีการปฏิบัติอย่างไม่จริงจังหรือไม่ จนทำให้การก่อหนี้ การสร้างหนี้ การหักหนี้ มันทำให้เงินเหลือเข้าซองแบบว่า เกือบเจ็ดหมื่น เข้าซองเจ็ดพัน หรือเจ็ดร้อย จนเป็นเรื่องราวกันอย่างที่ทราบๆ

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากนายธนาคารกลางที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ครับ ท่านได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจและขอนำมาส่งต่อเพื่อให้เราๆ ท่านๆ และท่านที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ซึ่งกำลังแก้ปัญหาในห้องทดลอง (Lab แห้ง คือ ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน) ได้ลองเปิดใจรับฟังสิ่งที่คนเดินถนนอย่างผู้เขียนได้นำเรียนดังนี้นะครับ

... สินเชื่อที่หักจ่ายเงินเดือนหน้าซอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ เป็นที่หมายปองของเจ้าหนี้ในด้านหนึ่งยากที่จะปฏิเสธว่าการที่คุณครูจำนวนไม่น้อยมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงส่วนสำคัญเป็นเพราะคุณครูมีความต้องการสินเชื่อเพื่อจับจ่ายใช้สอยในเรื่องต่างๆ (demand) แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้พูดถึงมากนัก คือการแข่งขันกันของเจ้าหนี้ในการปล่อยสินเชื่อให้คุณครู (supply) ซึ่งก็ยากที่จะปฏิเสธเช่นกันว่าการแข่งขันของเจ้าหนี้เป็นต้นเหตุที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้คุณครูมีหนี้ค่อนข้างจะสูง

นับตั้งแต่เริ่มบรรจุในวันแรก คุณครูสามารถที่จะกู้เงินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และเมื่ออาชีพการงานก้าวหน้าไปตามลำดับและเงินเดือนที่ได้สูงขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของคุณครูพร้อมที่จะให้คุณครูกู้รายละหลายล้านบาท ในขณะที่สถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหนี้ต่างหมายปองสินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองของคุณครูเนื่องจากเป็นสินเชื่อมีความเสี่ยงต่ำ นายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัด หรือกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ทำหน้าที่หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นประจำทุกเดือน (collection) และสินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองของคุณครู ถือเป็นสินเชื่อหักเงินเดือนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้สินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองมีความเสี่ยงต่ำ แต่พบว่าสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากครูสูงต่ำแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและเจ้าหนี้

จากการสำรวจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-9% ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินของรัฐคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-10% โดยรวมแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ คิดจากคุณครูถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (credit cost) หรือความเสี่ยงที่คุณครูจะผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ต่ำมาก และเจ้าหนี้แทบที่จะไม่มีมีค่าใช้จ่ายในตามเก็บหนี้ (operation cost) เลย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่หักค่างวดชำระหนี้ที่คุณครูต้องจ่ายจากเงินเดือนของคุณครูเป็นประจำทุกเดือนเพื่อส่งเจ้าหนี้ ในขณะที่ต้นทุนของการระดมทุน (funding cost) ทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย...

คำถามคือ ถ้าเดินด้วยดอกเบี้ยเงินกู้แบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้มันเกินเลยไปหรือไม่ มันควรต้องลดลงตามความเสี่ยงของการเก็บหนี้ที่ตนเองไม่ต้องมีต้นทุนหรือไม่ การลดดอกเบี้ย ลดค่าผ่อนลง ยืดหนี้ออกไป ลดการส่งค่าหุ้น ลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเงินกู้มันสูงแบบนี้ในเวลานี้ควรต้องทำหรือไม่ การปรับโครงสร้างหนี้ถ้าทำฝั่งเดียวคือสถาบันการเงิน เงินก่อนหักหน้าซองจะมีเหลือเพิ่ม คนที่มีสิทธิหักหน้าซองโดยอ้างกฎหมายที่ออกแบบมาตั้งแต่ในอดีตก็จะหักได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ไม่มีแรงจูงใจให้เขาต้องลงมาช่วยลูกหนี้เพิ่ม เพราะเจ้าหนี้อื่นถูกกดดันให้ช่วยลูกหนี้แล้ว อีกทั้งตนเองก็ไม่ได้อยู่ในกำกับของธนาคารกลาง

ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความเห็นแบบหักดิบดังนี้นะครับ ทำได้หรือไม่ก็ว่ากัน

1. ลดดอกเบี้ยเงินฝากให้เหลือไม่เกิน 1.5-2% เพราะดอกเบี้ยได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

2. ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้เกิน 4-4.5%

3. ลดการนำส่งค่าหุ้นให้เหลือเป็นขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน ใครจะมากกว่านี้ก็ได้ สถานภาพสมาชิกไม่กระเทือน

4. เงินปันผล/เงินเฉลี่ยคืนไม่เกิน 4%

5. รายที่เป็นหนี้วิกฤติให้เอาหุ้นที่ลงไว้แล้วมาหักหนี้เพื่อยุบหนี้ปัจจุบันลงไปโดยสามารถไถ่ถอนได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อรายเป็นต้นและให้ทำครั้งเดียว

6. ไม่มีการให้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มาสนับสนุนเพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของแต่ละแห่ง

ผู้เขียนคิดแบบผ่าทางตันแล้วครับ ท่านจะด่าว่าอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ แต่เห็นแววตาของคุณครูที่เป็นหนี้แล้วไปต่อไม่ได้ หรือไปได้ยากแล้วมันทุกข์ใจ

ขอบคุณครับ