posttoday

ต้อนรับปี 2021 ด้วย 10 กลยุทธ์การลงทุน

30 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ 10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง โดย...นิษณากาญจน์ ภาษวัธน์ ธนาคารกสิกรไทย

1. ไม่ทันไรก็ก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถึงเวลาทบทวนพอร์ตการลงทุนเพื่อรับสถานการณ์ในปีหน้า ว่าบรรยากาศจะสดใสและหุ้นจะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำเหมือนในช่วงสิ้นปีนี้หรือไม่ เราเชื่อว่าข่าวดีเรื่องวัคซีนเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ให้แก่นักลงทุนพร้อมๆ กัน โดยหุ้นยังมีแนวโน้มเดินหน้าและให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2021 บนสมมติฐานเรื่องความสำเร็จของวัคซีนที่ใกล้เข้าสู่ความจริง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการคลังและการเงินที่อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าคาด ล้วนแล้วเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นทั้งสิ้น

2. หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตจะพบว่าหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น Industrial, Materials, Financials, Energy ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤต แต่ทั้งนี้เราคาดว่าเป็นกระแสการสลับกลุ่มเล่นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วย Technology และ Healthcare เป็นหลักและจะสามารถสร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน ดังนั้น เราจึงแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyclical ในระยะสั้นโดยต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และลงทุนในหุ้น Growth ควบคู่กันในสัดส่วนที่สูงกว่าในระยะยาวประมาณ 3 ปี ขึ้นไป

3. อย่าพลาดการลงทุนในหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน เพราะนอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว เราเริ่มเน้นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการบริโภคจีนในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาก รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่คาราคาซังก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากการชัยชนะของนายไบเดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียหลายประเทศที่พึ่งพาการค้า

4. ท่ามกลางตลาดที่ Sensitive และเทรดตาม Sentiment โดยรับรู้ข่าวสารล่วงหน้ามากกว่าปัจจัยพื้นฐานปัจจุบัน การทำ Marketing Timing หรือการจับจังหวะการลงทุนในหุ้นเพื่อซื้อ ณ จุดที่ราคาต่ำ และขาย ณ จุดที่ราคาสูงนั้นทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อราคาหุ้นในหลายๆ ตลาดในตอนนี้ถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับระดับราคาในอดีต สังเกตได้จาก Price-to-Earnings Ratio ของหลายๆ ดัชนีหลลักที่ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น เราจึงแนะนำการลงทุนแบบ Dollar Cost Average ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนแบบทยอยๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ตามความถี่ที่กำหนดไว้ เช่น รายสัปดาห์ หรือ รายเดือน เพื่อเฉลี่ยต้นทุนการเข้าซื้อ

5. นอกจากนี้ ตลาดที่รับรู้ข่าวดีข่าวร้ายอย่าวรวดเร็ว นักลงทุนยังควรกระจายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอาจดูไม่น่าดึงดูดในภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดิน แต่ถือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงขาลงที่ดี โดยอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ เช่นจีน และสหรัฐฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงอีกชั้น

6. เนื่องจากดอกเบี้ยทั่วโลกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอีกนาน หุ้นกู้บริษัทเอกชน จึงเป็นอีกทางเลือกการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่ที่ยังให้มีผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนอาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคัดกรองเลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีอัตราผิดนัดชำระหนี้ต่ำ

7. แน่นอนว่าในภาวะที่ FED กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่อง และการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอลลาร์สหรัฐฯจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินอื่นๆ โดยเรามองว่าเม็ดเงินจะไหลออกจากดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และไหลเข้าค่าเงินประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้นในปี 2021 นี้ นักลงทุนจึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดสถานะการลงทุนในดอลลาร์สหรัฐฯลง

8. อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นในปีนี้ คือ ทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีติดพอร์ตไว้ไม่เสียหายราวๆ 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยในระยะสั้นเราคาดว่าราคาทองคำจะวิ่งอยู่ในกรอบ 1,850-2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากแรงหนุนของแนวโน้มอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วงปลายปี 2021 ช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีโอกาสพลิกฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลง แต่ในช่วงหลังวิกฤตการเงินปี 2008 ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ไปอีกประมาณ 4 ปีเลยทีเดียว

9. นอกจากนี้ กลยุทธ์เสริมอย่างการลงทุนในสินทรัพย์จริง (Real Assets) เช่น หุ้นนอกตลาด (Private equity) ที่ไม่ค่อยอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาตลาดในระยะสั้น ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นโอกาสการลงทุนที่ดี เพราะ สามารถเข้าซื้อได้ในราคา Discount นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่จะได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากแผนการลงทุนของรัฐบาลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์จริงอาจต้องถือครองได้ระยะยาว

10. ที่ขาดไม่ได้เพราะเป็นเทรนใหม่ของโลกที่ทุกคนให้ความสำคัญ คือ การลงทุนอย่างยั่งยืนในธีมรักษ์โลก ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายไบเดน พร้อมด้วยความร่วมมือจากรัฐบาลทั่วโลกที่ผลักดันกฏหมายข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้มาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่ถูกลง เช่น ยกเว้นหรือลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น