posttoday

วิธีการรักษาทีมงาน

11 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

ผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมต่างๆ มักจะเจอปัญหาการสูญเสียทีมงานกันบ่อย บางครั้งเราเองคิดว่าให้ผลตอบแทนก็สูง เงินพิเศษก็มีให้ ทำไมถึงไม่พอใจอีก ทุกครั้งที่เสียทีมงานไปก็จะมีผลกระทบต่องานทันที เพราะทุกวันนี้คนเป็นหัวหน้าทีมมักจะไม่มีเวลาทำงานกันหรอกครับ เป็นคนทีมงานต่างหากที่ทำ เพราะคนเป็นหัวหน้าวันๆ แค่ประชุมก็หมดเวลาแล้วครับ หนึ่งอาทิตย์มีห้าวันทำการ แต่ถ้ารวมเวลาประชุมทั้งหมดที่มีก็เกินเจ็ดวันไปอีก แค่นั่งคิดว่าจะไม่เข้าประชุมอันไหนก็เหนื่อยแล้วครับ ไม่ต้องหวังว่าจะมีเวลาลงมือทำงาน เพราะแค่สั่งยังสั่งไม่ทันเลย

การจะสร้างทีมหรือรักษาทีมไว้ต้องใช้ใจครับ ไม่ใช่เงิน งานจะเดิน คนต้องรักงานที่ทำก่อนครับ หัวหน้างานบางคนเห็นเรื่องคนในทีมเป็นเรื่องเล็ก ลาออกได้ ก็หาคนมาแทนใหม่ได้ จ่ายแพงๆ เดี๋ยวก็มีคนมาเอง ซึ่งจริงๆ แล้วแม้ว่าการจ่ายเงินจ้างแพงๆ แต่ถ้าการปลุกขวัญและกำลังใจ หรือการทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีค่าต่อทีม มีค่าต่อองค์กรถูกมองข้ามไป ก็น่าเสียดาย เพราะคนเก่งๆ สมัยนี้เขาไม่ง้องานกันหรอกครับ ถ้าหัวหน้าไม่เห็นความสำคัญของคนในทีม ปล่อยให้เขามีความเข้าใจผิดๆ ต่อทีมงานหรือต่อองค์กร เขาก็จะลาออกไปในที่สุด แม้ว่าเราจะสามารถรับคนใหม่ที่มีทักษะใกล้เคียงกันมาแทนได้ แต่เวลาที่เสียไปกับการศึกษางานใหม่นั้น อาจจะแพงกว่าค่าใช้จ่ายในการักษาคนเก่าๆ เอาไว้ด้วยซ้ำ

มีงานวิจัยของเมืองนอกทำไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้พนักงานลาออกหรือเปลี่ยนงานนั้น ไม่เกี่ยวกับเงินเดือนมากหรือเงินเดือนน้อยเลย แต่กลับเป็นเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจ และการถูกมองข้ามความสำคัญ ดังนั้นถ้าเราจูงใจให้ทีมงานของเรารักในงานที่ทำอยู่หรือในองค์ที่อยู่ได้ การบริหารคนและการบริหารงานของคนเป็นหัวหน้าก็จะราบรื่น ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการเข้าๆ ออกๆ ของพนักงาน

การที่เราจะเข้าใจทีมงานเราได้ การที่เราจะรู้ว่าคุณค่าของพนักงานนั้นคืออะไร เราต้องรู้ก่อนว่าแรงจูงใจของคนในทีมงานเราคืออะไร คนเราทุกคนมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลักๆ สี่อย่างคือ ต้องการความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต (ทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว) ต้องการให้สังคมนั้นยอมรับในตัวเอง ต้องการให้สังคมนั้นเห็นคุณค่าต่อการกระทำของตัวเอง และต้องการกับสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา

ต้องถามว่าทุกวันนี้ที่ทีมเราส่งมอบผลงานออกมาได้ ระหว่างพลังกายกับพลังใจ เขาใช้พลังอะไรมากกว่ากัน หัวใจของทีมงานสำคัญที่สุด ได้ใจของพนักงานก็เหมือนได้งานมาแล้วครึ่งหนึ่ง ผลงานของทีมรับรองออกมาดีแน่ และต้องทำอย่างไรถึงจะได้ใจพนักงาน

ต้องมีเป้าหมายของทีมที่ชัดเจนร่วมกัน ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน และรู้ว่างานของตัวเองที่รับผิดชอบอยู่นั้นไปตอบโจทย์ หรือตอบงานของทีมตรงไหน รู้ว่างานใครต้องเชื่อมต่อกับใคร หรืองานไหนเอกเทศต่อกัน ทำไปได้เลย

ชีวิตส่วนตัวก็สำคัญ ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องงาน การที่เราเป็นหัวหน้าทีมทำได้หมายความว่าเราไปเป็นเจ้าชีวิตของเขา ชี้เป็นชี้ตายได้ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ เราก็แค่มีหน้าที่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่หน้าที่ในการทำงาน แต่ต้องจัดสรรคนในการทำงาน เมื่อไรที่หัวหน้าไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตด้านอื่นของทีมงาน บังคับให้ทำแต่งานอยู่ด้านเดียวร่ำไป จะส่งผลให้ศักยภาพของพนักงานลดลง ดังนั้นหัวหน้างานที่ดีจะต้องสมดุลความสำคัญระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของพนักงานในทีมงาน เมื่อได้ที่คนเราสบายใจในเรื่องส่วนตัว หรือได้รับการเติมพลังใจจากที่บ้าน เขาก็จะมีพลังกายในการที่จะทำงานให้เราที่บริษัท

ต้องฉลองกันบ้าง สนุกกันบ้าง ไม่ใช่ทำงานหนักตลอด หน้าเครียดคิ้วพันกันตลอด 24 ชั่วโมง คงไม่มีคนปกติที่ไหนจะทนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นได้ตลอดเวลาหรอกครับ หาโอกาสชื่นชมในความสำเร็จของทีมงานบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานบ้าง ออกไปหากิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงานทำร่วมกันบ้าง เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายร่วมกันบ้าง เลี้ยงฉลองเฮฮากันบ้าง กิจกรรมอะไรก็ได้ที่มันถอดหมวกหัวหน้ากับทีมงานออก ใส่หมวกสีเดียวกันคือเป็นเพื่อนร่วมงานกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน เพราะจะทำให้เขารู้สึกอยากตื่นเช้าและรีบมาทำงานเพราะอยากมา

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเพื่อให้ใจของทีมงาน คือในทีมงานต้องเกิดความรู้สึกว่า “เราตัดสินใจร่วมกัน” พนักงานแต่ละคนนั้นอยากจะร่วมในกิจกรรมของทีมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะระดับไหน พวกเขาย่อมมีความคิดริเริ่มอยู่แล้วเท่าที่ตำแหน่งและหน้าที่จะเอื้อให้ทำ ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออกในแนวทางหรือความคิดริเริ่มใหม่ๆ นั้น ในการตัดสินใจที่จะนำไปซึ่งความสำเร็จของทีม เพราะทุกคนล้วนอยากมีส่วนร่วมในความสำเร็จ ซึ่งหลายครั้งมาสิ่งที่เขาเหล่านั้นเสนอมา ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้น เพราะเขาเป็นคนทำงาน เขาอยู่ใกล้ปัญหามาที่สุด หรืออย่างน้อยก็อยู่ใกล้ปัญหามากกว่าเราแน่ๆ เปิดใจรับฟังเขาหน่อย แค่นี้ก็ได้ใจมาแล้วครับ

เรื่องสุดท้ายที่เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องการแน่นอน คือ เมื่อสำเร็จต้องตอบแทน เพราะถ้าไม่ตอบแทนคราวหน้าคงไม่มีใครทำอะไรให้เรา เป็นได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นกล่องหรือจะเป็นเงิน รางวัลต่างๆ พนักงานดีเด่น นักขายยอดเยี่ยม พนังงานใหม่แห่งปี พนักงานทำงานมากกว่า 25 ปีขึ้นไป สุดแล้วแต่จะสรรหามา เพราะพนักงานที่ได้รับรางวัลนั้น เขาไม่ได้ดีใจกับชื่อรางวัลต่างๆ ที่เขาได้รับหรอกครับ แต่เขาดีใจที่หัวหน้างานของเขา บริษัทที่เขาทำงานอยู่นั้น เห็นความสำคัญในตัวเขา ท้ายสุดคนเราก็ต้องการแค่นี้