posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “การแสดงจุดยืนทางการเมือง” (Economics of Political Standpoints)

27 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ปรากฏการณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงของเหตุการณ์การไม่ลงรอยทางการเมือง จนนำมาสู่การประท้วงในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา (โดยเฉพาะในยุคที่สังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้องหลักในชีวิตประจำวัน) ก็คือ การเกิดการเรียกร้องให้คนในสังคมต้องแสดง (หรือเลือกที่จะแสดงเอง) “จุดยืนทางการเมือง (Political Standpoint)” ดังจะเห็นได้จากการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยล่าสุด ดารา/บุคคลสาธารณะ/หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคม เริ่มถูกกระแสกดดันทางสังคมให้ต้อง “แสดงจุดยืนทางการเมือง” เนื่องจากดารา/บุคคลสาธารณะ/หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคมเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็เป็น Influencer ที่จะสามารถชัดนำหรือดึงดูดให้คนอื่นๆ คล้อยตามและ (อาจจะ) ออกมาประกาศแสดงจุดยืนทางการเมือง อันจะส่งผลให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้

การแสดงจุดยืนทางการเมืองก็เปรียบเสมือนกับ “การตัดสินใจเลือก” (Make Choice) ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่บุคคลหนึ่งสามารถที่จะเลือกที่จะทำ (หรือไม่ทำ) ได้ ถ้าการเลือกนั้นมาจากการเลือกที่มีเหตุมีผล (Rational) และมีการเลือกจากข้อมูลที่ถูกสมบูรณ์และถูกต้อง (Perfect Information) จึงจะทำให้การเลือกจุดยืนทางการเมืองนั้นเป็นการเลือกที่ก่อให้เกิด “ประสิทธิภาพ” จริง

แต่ทว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในบริบทของสังคมการเมืองของไทยในขณะนี้นั้น อาจจะไม่ใช้เป็นการตัดสินใจเลือกที่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก (Rational Choice) ด้วยเหตุผลทางหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เท่าใดนัก ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

1) การเปรียบเทียบผลได้และผลเสียจากการแสดงจุดยืนทางการเมือง (Cost and Benefit)

เนื่องจากการเลือกที่ถูกต้องจะต้องเกิดจากการที่ผู้เลือกมีเหตุผล (Rational) ที่สามารถเปรียบเทียบระหว่าง “ผลได้และผลเสีย” (Cost and Benefit) จากการเลือกนั้นได้ ในกรณีของการเลือกแสดงจุดยืนทางการเมืองในส่วนของผลได้ (Benefits) พบว่า การประกาศเลือกว่าสนับสนุนพรรคไหน/กลุ่มไหนให้แน่ชัด เป็นกระบวนการหนึ่งของการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่ผู้เลือกสามารถมีสิทธิ์มีเสียงที่จะแสดงจุดยืนของตน และยังเป็นการให้การสนับสนุนพรรค/กลุ่มนั้น ๆ ให้สามารถดำเนินตามแนวทางที่ถูกต้อง และแน่นอนว่าจะช่วยในการสอดส่อง (Monitor) การที่พรรค/อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะทำอะไรที่ผิดจากที่ควรจะเป็นได้ อันส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของการทำงานในภาคประชาสังคม

ในขณะที่ผลเสีย (Cost) จากการแสดงจุดยืนทางการเมืองนั้นก็คือ โอกาสในการได้รับ “บทลงโทษทางสังคม” จากผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งผมเห็นว่าในกรณีของประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่า “ต้นทุนในส่วนนี้สูงมาก” เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ระบบประชาธิปไตยมีการพัฒนาสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าจะมีคนๆ หนึ่งที่ประกาศว่าตนสนับสนุนพรรครีพับริกัน คนๆ นั้นก็คงจะไม่ได้ถูกเหยียดหยามหรือถูกด่าทอ หรือถูกบูลลี่อะไรมากนักจากคนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต หรือในกรณีของประเทศอังกฤษ การที่คน ๆ หนึ่งประกาศออกมาว่าสนับสนุนพรรคแรงงาน คน ๆ นั้นก็คงจะไม่ได้ถูกคนที่สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมด่าทอว่ากล่าวแต่อย่างไร เพราะคนในประเทศเหล่านั้นมีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากพอที่จะยอมรับการเห็นต่างของคนอื่น ๆ

ในขณะที่ “การแสดงจุดยืนทางการเมือง” ของประเทศไทยนั้นดูเหมือนผู้แสดงออกจำเป็นต้องจำแบกรับ (หรือยอมรับ) “ต้นทุน” ที่สูงกว่าประเทศดังกล่าวข้างต้น ดังที่เราเห็นได้จากการที่ไลฟ์โค้ชชื่อดังคนหนึ่งถึงกับต้องหมดอนาคตทางการงานกับการแสดงความชื่นชมพลเอกประวิทย์ หรือการที่ดารา/นักแสดงบางคนต้องสูญเสียรายได้จากการออกมาเลือกสนับสนุนม็อบคณะราษฎร หรือแม้กระทั่งล่าสุดอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่กำลังถูกนักศึกษาลงชื่อเรียกร้องให้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองให้แน่ชัด ซึ่งไม่นับแม้กระทั่งกับคนธรรมดาอย่างเราๆ ทั่วไปที่พอประกาศจุดยืนทางการเมืองออกมาก็อาจจะได้รับผลกระทบทางลบจากคนในที่ทำงานที่อาจมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากตนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการถูก Cyber Bully จากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย, การทะเลาะเบาะแว้งของเพื่อนในกลุ่ม (หรือในครอบครัว), การถูกโยกย้ายของข้าราชการ, หรือการให้ออกจากงาน/ลาพักงานชั่วคราว เป็นต้น

ซึ่งแท้จริงแล้ว การได้รับบทลงโทษทางสังคมจากการเห็นต่างทางการเมืองนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเลยกับสังคมที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าสังคมอยากจะให้ประชาชนออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองให้มากยิ่งขึ้น สังคมนั้น ๆ ก็ควร “ช่วยลดต้นทุน” โดยการให้การยอมรับคนที่มีจุดยืนที่แตกต่างจากตน เพื่อให้เกิดการถกเถียงการเห็นต่างนั้นอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น

2) ปรากฏการณ์ตามแห่ (Bandwagon Effect) ของการแสดงจุดยืนทางการเมือง

ถึงแม้ว่าสังคมจะเปิดกว้างให้เกิดการแสดงจุดยืนทางการเมืองตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองจะมาจาก “การตัดสินใจของคนผู้นั้นอย่างเดียว” 100 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏการณ์ตามแห่ (หรือ Bandwagon Effect) ของผู้แสดงจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองได้ทำการศึกษามาอย่างยาวนาน Bandwagon effect เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ผู้คนในสังคมทำบางสิ่งบางอย่างเหมือน ๆ กัน เนื่องจากคนอื่นได้ทำสิ่ง ๆ นั้น แนวคิดของ "Bandwagon effect" นี้ถูกอ้างอิงมาจาก รถบรรทุกม้าลากที่บรรทุกวงดนตรีสดและแห่ไปตามขบวนพาเหรด ด้วยประโยคที่ว่า "Jump on the bandwagon" ที่แปลว่าทำตามกระแส หรือการเลียนแบบการกระทำที่ประสบความสำเร็จ ถูกใช้ครั้งแรกในการเมืองอเมริกาในปีค.ศ. 1848 เมื่อ Dan Rice ตัวตลกและเจ้าของละครสัตว์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนผู้ลงสมัครประธานาธิบดี Zachary Taylor เขาได้ใช้รถดนตรีในขบวนแห่และเสียงเพลงเพื่อดึงดูดความสนใจในการรณรงค์หาเสียง ผลปรากฏว่า การรณรงค์ของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก Zachary Taylor ได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยนั้น หลังจากนั้นผู้ลงสมัครว่าที่ประธานาธิบดีคนอื่น ๆได้ยึดตามแนวทางนี้เป็นมาตรฐาน

งานศึกษาทางด้าน Bandwagon Effect นี้อธิบายว่า สาเหตุที่คนทั่วไปจะได้รับการชักจูงจากปรากฏการณ์ตามแห่นี้มาจากเนื่องจาก มนุษย์ทุกคนอยากเป็นผู้ชนะ ดังนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะติดตามผู้ชนะหรือมีส่วนร่วมในชัยชนะของคนอื่น ๆ นอกจากนั้น มนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคมที่อยากได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่ม และอาจเกิดความกลัวที่จะแสดงออกถึงการเห็นต่างจากคนในกลุ่มจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Groupthink ซึ่งก็คือพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติตามตามกันโดยไม่มีการโต้แย้ง ซึ่งถ้าเรากลับไปดูการเกิดม๊อบในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ Bandwagon Effect เองก็ได้ถูกแทรกแซงอยู่ในกลุ่มม็อบอย่างที่เราอาจไม่เคยรู้ตัว

ในการทดลองทางวิชาการ ผมอยากจะขอให้ผู้อ่านที่อาจเคยเข้าร่วมในกลุ่มของผู้เป่านกหวัด (เมื่อครั้ง กกปส.) ในสมัยที่เกิดการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า “ในการตัดสินใจเข้าร่วมของท่านขณะนั้นได้ถูกตัดสินใจจากเหตุผลอะไรกันแน่ และท่านไปคนเดียวหรือไปเป็นกลุ่มกับเพื่อน” และในทางกลับกัน นักวิจัยทางด้านรัฐศาสตร์อาจจะลองทำการสำรวจม็อบในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอยู่ในขณะนี้ดูว่า นักเรียนนักศึกษาแต่ละคนนั้นมาประท้วงด้วยเหตุผลอะไร และมีระดับของการมาเพราะเพื่อนชวนมา (Peer Effect) มากน้อยไหนได้ด้วยเช่นกัน

ในทางทฤษฎี ปรากฏการณ์ตามแห่ หรือ Bandwagon Effect จะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดทางสถิติทั้ง Inclusion Error และ Exclusion Error หรือกล่าวได้ว่า “คนที่เข้าร่วมกลุ่มประท้วงอาจจะไม่ได้อยากเข้าร่วมจริง และคนที่อยากเข้าร่วมจริงอาจจะไมได้เลือกเข้าร่วม” ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่อาจทำให้ตัวเลขของผู้ที่ทำการแสดงจุดยืนทางการเมืองนั้นอาจเป็นตัวเลขที่บิดเบือน (Bias) ได้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่ควรสูงกว่านี้หรือต่ำกว่านี้

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “การแสดงจุดยืนทางการเมือง” (Economics of Political Standpoints)

3) ทางเลือกที่ถูกจำกัด (Corner Solution) ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง

สังคมไทยแท้จริงแล้วเป็นสังคมที่มีความหลากหลายสูง (ดังที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ในบทความที่ชื่อว่า เศรษฐศาสตร์กับความหลากหลาย หรือ Economics of Diversity http://piriya-pholphirul.blogspot.com/2015/05/economics-of-diversity_25.html) แต่ทางเลือกในสังคมกลับ “ถูกจำกัด” อยู่เพียงไม่กี่ทางเลือก ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกเพศสภาพ สังคมให้ทางเลือกหลัก ๆ เราในการเลือกเป็นเพียง “ไม่เพศหญิงก็เพศชาย” แต่แท้จริงแล้ว สังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงจะเป็นต้องเปิดกว้างให้เกิดทางเลือกในเพศสภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะทั้งเป็น ทอม, ดี้, กระเทย, เกย์, เลสเบี้ยน, ชายข้ามเพศ, หญิงข้ามเพศ, ไบเซ็กชั่วล์, และอื่น ๆ ซึ่งการเลือกที่ถูกจำกัดนี้ก็เปรียบเสมือนกับคนที่เข้าข่าย “รักพี่เสียดายน้อง แต่ถ้ารักทั้งสองก็กลัวแม่ยายจะว่า” เช่นเดียวกับสังคมไทย ที่การให้คนได้แสดงจุดยืนทางการเมืองจะกำหนดทางเลือกที่จำกัดเพียงแต่สอง (หรือสาม) ทางเลือกเท่านั้น เช่น “ไม่เสื้อเหลือง ก็เสื้อแดง” หรือ “ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ก็สนับสนุนเผด็จการ”

ซึ่งในการเข้าถึงแหล่งทางเลือกที่หลากหลายนั้น ผมขอเสนอให้องค์กรอิสระ/ มหาวิทยาลัย/ กลุ่มโพลสำนักต่าง ๆ ให้ทำการสำรวจและทำการจำแนกกลุ่มประชาชนที่หลากหลาย (และวิเคราะห์โดยละเอียด) นี้ โดยแบ่งกลุ่มทางเลือกให้หลากหลายเช่น

• กลุ่ม 1 - เสื้อแดง Original สนับสนุนคุณทักษิณ และแน่นอนว่าอยู่ในกลุ่ม anti สถาบันด้วย

• กลุ่ม 2 - เสื้อแดง สนับสนุนคุณทักษิณ ชอบในนโยบายสมัยนั้น แต่ก็ไม่ anti สถาบัน และให้การเคารพสถาบันเป็นอย่างสูง

• กลุ่ม 3 - เสื้อแดงใฝ่หาประชาธิปไตย ไม่ได้สนับสนุนคุณทักษิณ ไม่ได้ anti สถาบัน แต่ต้องการการมาของรัฐบาลที่โปร่งใสถูกต้อง

• กลุ่ม 4 - สนับสนุนคุณธนาธร และอยู่ในกลุ่ม anti สถาบัน และชอบคุณ ท. เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

• กลุ่ม 5 – สนับสนุนคุณธนาธร ชอบแนวคิดที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลาย ๆ ด้าน และก็ไม่ได้ anti สถาบัน และไม่ได้ชอบคุณทักษิณ

• กลุ่ม 6 – ชอบคุณทักษิณ ไม่ได้ชอบคุณธนาธร และที่เลือกคุณธนาธรเพราะไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก และยังคงรักสถาบัน

• กลุ่ม 7 – ไม่ได้ชอบคุณทักษิณ แต่ที่เลือกคุณธนาธรเพราะไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก และยังคงรักสถาบัน

• กลุ่ม 8 – ไม่ได้ชอบคุณทักษิณ ไม่ได้ชอบคุณธนาธร และไม่ได้ชอบคุณประยุทธ์ แต่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคร่วมอื่นๆ

• กลุ่ม 9 – เคยไม่ชอบคุณทักษิณ เคยไปร่วมสมเป่านกหวีดเดินขบวนไล่คุณยิ่งลักษณ์มาก่อน แต่ตอนนี้ก็ไม่ชอบที่มาและการบริหารของคุณประยุทธ์เช่นกัน

• กลุ่ม 10 – เคยไม่ชอบคุณทักษิณ และคุณประยุทธ์จะมาด้วยวิธีการไหนไม่สำคัญ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ก็ไม่ชอบการบริหารประเทศของคุณประยุทธ์เอามากๆ

• กลุ่ม 11 – ชอบคุณประยุทธ์มาก ๆ พร้อมสนับสนุน เพราะท่านน่าจะเป็นคนดี

• กลุ่ม 12 - รัฐบาลไหนมาได้หมด ปรับได้ทุกสี ขอบริหารประเทศให้ดีเป็นใช้ได้

• กลุ่ม 13 – ไม่รู้จักคุณทักษิณไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ยังไม่เกิดหรือยังเด็กอยู่

• กลุ่ม 14 - ใครจะมาจะไปก็ได้ เขาให้ทำอะไรก็ตามนั้น

• กลุ่ม 15 – อื่นๆ นอกจากนี้

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแบ่งกลุ่มทางเลือกที่หลากหลายนี้จะช่วยให้เราออกสินค้าทางการเมืองและนโยบายที่ช่วยในการแก้ไขที่ตรงจุดมากขึ้น

นอกจากนี้ คงจะเป็นเรื่องปกติ “ถ้าจุดยืนทางการเมืองของคนๆ หนึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ตามอายุ หรือตามประสบการณ์ชีวิตของคนนั้น ๆ” ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 10 ปีก่อน คน ๆ หนึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มที่ 8-9 พอเวลาผ่านมาเกิดการรัฐประหารจึงย้ายมาอยู่กลุ่มที่ 11 และพอเข้ามาสู่ช่วงการเลือกตั้ง จึงย้ายมาอยู่กลุ่มที่ 9 และตอนนี้อาจจะมาอยู่ในกลุ่ม 12 แล้วก็ได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้เลือกให้คนต้องเลือกแสดงจุดยืดยืนทางการเมืองนั้น ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนให้สังคมต้อง “ลดต้นทุน” ในการเลือกจากการให้การเปิดกว้าง (และยอมรับ) ให้คนต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย (เฉกเช่นเพศสภาพที่หลากหลาย) และไม่จำเป็นที่จะต้องให้บทลงโทษอะไรกับคนที่เลือกเป็นกลาง/หรือไม่ได้เลือกแสดงจุดยืนทางการเมืองออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ ควร “สร้างผลได้” จากการเลือกเพื่อให้เกิดแรงผลักดันทางกลุ่มก้อนในแนวทางที่เหมาะสม (เช่นการไม่จำเป็นต้องด่าทอคนบางกลุ่มด้วยถ้อยทำหยาบคาย การไม่ทำลายทรัพย์สินและสถานที่ เป็นต้น) นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลาย และไม่จำเป็นต้องบังคับ/กำหนดให้ใครคนหนึ่งจำเป็นต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะถ้าแสดงจุดยืนทางการเมืองเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่สามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย “การเลือกไม่แสดงจุดยืนทางการเมือง” ออกมาอย่างเด่นชัด ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย

และในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก คนในบางกลุ่มของสังคมกลับควรต้องวางตัว (และปฏิบัติ) ด้วย “ความเป็นกลาง” เสียด้วยซ้ำ โดยกลุ่มคนที่ควรวางตัวเป็นกลางมากที่สุดควรจะเป็น

1) ครูอาจารย์ (ที่ต้องสอนและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและสอนเด็กมีการคิดวิเคราะห์จากข้อมูลนั้น)

2) ข้าราชการ (ที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนต้องทำงานรับใช้ประชาชนเป็นสำคัญ)

3) ทหารตำรวจ (ที่ต้องทำหน้าดีดูแลความสงบในประเทศ) 4) พระและนักบวช (ที่ต้องชี้ให้สังคมเห็นบาปบุญคุณโทษ) 5) หน่วยงานอิสระต่าง ๆ เช่น กกต ปปช รวมถึง สว อีก 250 คน เป็นต้น แต่ถ้าสังคมบังคับให้ท่านต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองจริง ก็ของให้เลือกแสดงในจุดยืนที่ “ความดี/ ความถูกต้อง/ และประโยชน์ของประเทศ” เป็นสำคัญ