posttoday

นับถอยหลังสู่กับวันเลือกตั้งสหรัฐฯ

26 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดจะให้น้ำหนักว่าโจ ไบเดน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การเปิดเผยตัวเลขจีดีพี สหรัฐฯ และยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่จำเป็นต้อวติดตามท่าทีของอีซีบีและบีโอเจจากการประชุมนโยบายการเงินในช่วงสัปดาห์นี้ ด้านไทยจะเปิดเผยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกันยายน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตลอดทั้งสัปดาห์ในกรอบแคบที่ 31.17-31.32 โดยมีปัจจัยกดดันให้อ่อนค่ามาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ เงินบาทยังมีปัจจัยหนุนมาจากการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาคและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ โดยความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ปรับลดลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ แนนซี่ เพโลซี โฆษกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมหารือกับสตีเฟ่น มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อลดข้อแตกต่างของนโยบายคลังเพื่อสีรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ให้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนยังสูงเนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรเพโลซีชี้ว่ามาตรการไม่น่าจะเป็นกฎหมายได้ทันวันเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้านค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมจากแนวโน้มข้อตกลง Brexit โดยหัวหน้าฝ่ายเจรจาฝั่งสหภาพยุโรปมิเชล บาร์นิเออร์กล่าวต่อสภายุโรปว่าข้อตกลงการค้าหลังสหราขอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปนั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.273 (วันพฤหัสบดี เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยมีสาเหตุจากการเทขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวทะลุแนวต้านที่ระดับ 0.80% มาแตะระดับ 0.836% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.653% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือนเช่นกัน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆต่างปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญมีการประกาศยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนกันยายนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 1.9%MoM เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.6% และมากกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.8% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นมากที่ 81.2 จากเดือนก่อนที่ 80.4 และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 80.5 เป็นแรงส่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นหลักที่นักลงทุนติดตามยังคงเป็นผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ขณะที่ทางผู้ว่าธปท. คนใหม่ได้แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี กว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนวิกฤต และนโยบายการเงินจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชีย รวมถึงความสามารถในการลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบันมีจำกัด ทำให้นโยบายการคลังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10ปี (LB29DA) วงเงินประมูล 10,000 ล้านบาท ปรากฏว่าผลออกมาค่อนข้างดี โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.35% และ Bid coverage ratio สูงถึง 4.14 เท่า จึงทำให้ภายหลังการประมูลมีนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้ออย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.53% 0.58% 0.67% 0.87% 1.10% และ 1.41% ตามลำดับ

นับถอยหลังสู่กับวันเลือกตั้งสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 4,591 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,898 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 437 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 256 ล้านบาท