posttoday

คลื่นปัญหาหนี้กระทบเศรษฐกิจไทย

20 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

การฟื้นตัวหรือการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (2563) ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า (2564) ไปจนถึงในระยะยาว 5 ปีข้างหน้า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของประเทศในทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ หนี้ภาคประชาชนหรือหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม และหนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะมีการค้นพบวัคซีนหรือไม่ เร็วหรือช้าแค่ไหน หรือพบยาที่จะใช้ในการรักษา ชะลอ หรือหยุดยั้งการเติบโตของไวรัสได้หรือไม่ เงื่อนไขหรือปัญหาเรื่องหนี้คงจะเป็นปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งอีกหลายระบบเศรษฐกิจในโลกต้องเผชิญในระลอกต่อไป ระบบเศรษฐกิจใดมีขีดความสามารถและบริหารจัดการกับปัญหาหนี้ในระบบเศรษฐกิจของตนได้ดี ก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดี และรวดเร็วกว่า

สำหรับประเทศไทย ปัญหาหนี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกปัญหาหนึ่งที่มูลหนี้ที่ปรากฎ และการลดลงของขีดความสามารถในการชำระหนี้เป็นเพียงยอดน้ำแข็งของปัญหา แต่รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงยังฝังอยู่ใต้พื้นดิน หรือพื้นทะเล ที่ยังมองไม่เห็นว่ามันใหญ่ และมีความยากลำบากต่อการแก้ไขอย่างไร และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยมาตรการทางการคลังที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องหนี้มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการเน้นที่การกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อหวังผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ก่อน ส่วนการเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้สามารถยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือการเพิ่มความสามารถในการก่อหนี้ไปก่อน เพื่อรักษาสภาพคล่องหรือเพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องจนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก หรือเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาซ้ำเติมให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ (Awareness) ต่อผลสืบเนื่องจากการสร้างหนี้เพื่อนำมาใช้ในการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะกลางเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการทางการคลังในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และ (สำหรับกรณีเศรษฐกิจไทย) อาจจะต้องใช้เวลานาน (อาจจะมากถึง 5-10 ปี) ในการฟื้นฟู

หนี้ภาคประชาชนหรือหนี้ครัวเรือน

ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หนี้สินในภาคครัวเรือนขยับเพิ่มสูงขึ้นจนไปอยู่ที่ระดับประมาณ 83% (จากเดิมเมื่อต้นปีที่อยู่ในระดับ 78%) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสำหรับเศรษฐกิจไทย มูลหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น (โดยต้องไม่ลืมว่าหนี้สินที่ปรากฎนี้เป็นเพียงส่วนของหนี้ในระบบเท่านั้น ยังมีครัวเรือนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีหนี้สินนอกระบบที่ต้องแบกรับด้วย) และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ก็ไม่ได้หมายความว่าครัวเรือนจะสามารถสร้างหนี้ได้เพิ่มขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัด ในทางตรงกันข้าม ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงในระบบ (Systematic Risk) เพิ่มขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยกลับถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ สถาบันการเงินก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่อยากปล่อยสินเชื่อ (เป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภคสำหรับครัวเรือนในกรณีนี้) ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของหนี้สินจึงคาดเดาได้ว่า น่าจะเป็นหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตามการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบดีว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินบัตรเครดิตนั้นไม่ได้ถูกปรับลดลง หรืออยู่ในระดับต่ำเหมือนที่เห็นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลย ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งสูงมาก ก็คาดเดาได้อีกเช่นกันว่า หนี้สินที่พอกพูนมากขึ้นนี้ คงจะเป็นหนี้สินของคนที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำของประเทศ ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้รวมกันน่าจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นจำนวนประชากรที่ไม่น้อยเลยของประเทศ

ในขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ถูกบั่นทอนลงจากข้อจำกัดด้านการสร้างรายได้และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลูกหนี้เหล่านี้จะถูกซ้ำเติมด้วยภาระค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น (แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำหรือติดลบ) ลูกหนี้เหล่านี้จึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะต้องผิดนัดชำระหนี้ และจำนวนไม่น้อยเลยที่จะต้องกลายเป็นหนี้เสียในระบบการเงินที่จะต้องเร่งแก้ไขต่อไป แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือ ผลกระทบของการเป็นหนี้ยังจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาทางสังคมอีกมาก ตั้งแต่ปัญหาในนะยะสั้น ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมไปจนถึงการฆ่าตัวตาย และในระยะยาวที่จะกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสในการศึกษาและการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวและเพิ่มพูนผลิตภาพการผลิตของตนเอง เด็ก และเยาวชนในอนาคต (ข้อมูลจากเครดิตบูโรคาดการณ์ว่า จะมีหนี้เสียภาคครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท หรืออาจจะสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ภายในปีนี้)

หนี้ภาคธุรกิจ

การลดลงอยากรวดเร็วของอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการทางสาธารณสุขในการจำกัดการระบาดของโรคส่งผลให้ภาคธุรกิจขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง และต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป มาตรการในการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อยมีปัญหาใน 2 ส่วนคือ

(1) ในแง่ของประสิทธิผลของโครงการยังเป็นไปอย่างจำกัด เพราะยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของภาคธุรกิจ และการกระจายของสินเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ กล่าวคือ ธุรกิจที่มีความต้องการสินเชื่อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้นเพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ขาดหายไป) กลับไม่ได้รับสินเชื่อเพราะถูกประเมินว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เช่น การมีหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคมากสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจด้วย แต่ธุรกิจที่สามารถปรับตัว ประคองตัวอยู่ได้ ก็ไม่มีควาใจำเป็นต้องใช้สินเชื่อภายใต้ของมาตรการของรัฐ

(2) ในแง่ของความสามารถในการสร้างรายได้ของธุรกิจในอนาคตเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น และธุรกิจเองก็ยังไม่เห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจ ประเภทของสินเชื่อจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ในอนาคต ปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงปัญหาสินเชื่อเพื่อการรักษาสภาพคล่องในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นปัญหาต่อไประยะกลางและระยะยาว เมื่อธุรกิจต้องปรับตัวตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

หนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะ

การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐต้องมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 42%-43% เป็นมากกว่า 52% ในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจนเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ในปี 2564 สถานการณ์หนี้ภาครัฐไม่ได้แตกต่างนักกับหนี้ภาคครัวเรือนในแง่ข้อจำกัดในการสร้างรายได้ ซึ่งรัฐคงมีความยากลำบากในการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรให้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายตามงบประมาณหากการฟื้นตัวหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าช้าหรือต้องใช้เวลายาวนาน ปริมาณหนี้ภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้นและข้อจำกัดในการจัดเก็บรายได้จะส่งผลต่อขีดความสามารถทางการคลังของประเทศ นอกจากนี้ มาตรการหลายมาตรการที่มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในระยะสั้นผ่าน "การแจก" ในรูปแบบต่าง ๆ หลายมาตรการเป็นภาระผูกพันทางการคลังในอนาคต ซึ่งจะมีผลเป็นการเพิ่มรายจ่ายในรายการประจำในอนาคต

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลมีการวางแผนในการจัดการกับการก่อหนี้ (ซึ่งเป็นการดึงเงินจากในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบัน) นี้อย่างไรหรือไม่ ความเสี่ยงทางการคลังประการหนึ่งสำหรับประชาชนทั่วไปคือ คงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนคงจะต้องเผชิญกับภาระภาษีที่เพิ่มมากขึ้น (ซึ่งผู้เขียนคาดว่าคงจะต้องเป็นการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากในปัจจุบัน 7% เป็น 10%) เป็นเพียงแค่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บเมื่อใด และจะมีการดำเนินการอย่างไรเท่านั้น การบริหารจัดการทางการคลังทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เท่าทันกับการขยายตัวของหนี้และภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีหรือต้องพึ่งพาระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจไทยที่มีโครงสร้างความเหลื่อมล้ำสูง

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ การพัฒนาของเงินดิจิทัล และระบบการเงินดิจิทัล นรูปของ Cyptocurrency สกุลต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโรคโควิด-19 สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก (เป็นความได้เปรียบของลูกหนี้เหนือเจ้าหนี้) และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณเงินในระบบ สั่นคลอนความน่าเชื่อถือและมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินหลักของโลกอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้วก็กระทบกับมูลค่าที่แท้จริงของเงินทุกสกุลในโลก จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเกิดความไม่เชื่อมั่นกับเงินสกุลใดเลยในโลก ทรัพย์สินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกจะมีมูลค่าอิงอยู่กับอะไร เงินเมื่อขาดความเชื่อถือจะไม่สามารถทำหน้าที่ของเงินได้อย่างที่เราคุ้นเคยกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปอย่างไร

คำถามเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับระบบการเงินจะต้องนำมาขบคิดกันอย่างจริงจังว่าเราจะวางแผนรองรับอย่างไร เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราจะไม่ต้องเผชิญ หรือไม่ต้องได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากเกินไป (เรียกว่าสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ) จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้หรือไม่ ? หรือจะเกิดขึ้นเมื่อใด ? หรือจะเกิดขึ้นอย่างไร ? แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันจะเริ่มเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินพูดถึงปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นแนวโน้มของการนำไปสู่เหตุการณ์การเสื่อมความเชื่อมั่นของสกุลเงินโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายท่านหยิบยกความผันผวนของราคาโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ เป็นต้น ที่มีความผันผวนรุนแรงมากเมื่อเทียบกับในอดีตมาเป็นสิ่งบ่งชี้ หรือสัญญาณที่สำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลกที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง (Disrupt) จากกระแสการพัฒนาของเทคโนโลยี