posttoday

ติดตามการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งสุดท้ายของทรัมป์-ไบเดนก่อนวันเลือกตั้ง

19 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทองมนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 นักลงทุนรอติดตามการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งสุดท้ายของทรัมป์-ไบเดน ก่อนวันเลือกตั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยเฉพาะคะแนนความนิยมที่ปัจจัยให้น้ำหนักกับชัยชนะของไบเดนสูงกว่า ขณะที่การระบาดของโควิด-19ในยุโรปรุนแรงขึ้นจนทำให้หลายประเทศต้องกลับมาปิดเมือง ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่สำคัญ อาทิ จีดีพี Q3 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก ที่มีแนวโน้มเร่งตัวหลังจากการระบาดน้อยลง ขณะที่ตลาดคาดว่า PBOC จะคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาระดับการผ่อนคลายสภาพคล่อง ในฝั่งของไทยกระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนกันยายน โดยตลาดคาดว่าจะติดลบลดลงจากเดือนก่อน ด้านนโยบายการเงิน ประธานเฟดนายเจอร์โรม โพเวลมีกำหนดกล่าวในงานประชุม IMF และธนาคารโลก และเฟดจะรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ รายเดือน (Beige Book) ขณะที่คริสติน ลาการ์ดเตรียมปาฐกถาในงานสัมมนานโยบายการเงินเช่นกัน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางค่าเงินหยวนหลังธนาคารกลางจีนลดสัดส่วนเงินสดสำรองต่อธุรกรรมสัญญาล่วงหน้าสกุลเงินต่างประเทศเป็น 0% จาก 20% เพื่อสกัดการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินหยวน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. มีแผนประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศและการฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ซึ่งจะเริ่มใช้ประกาศต้นปี 2021 โดยมีแผนปรับเพิ่มกรอบเพดานการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุน และผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนเพื่อลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบ 31.15-31.25 ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์เนื่องจากตลาดรอติดตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพัฒนาการของการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันที่ยังล่าช้า รวมถึงประเด็นการกลับมาแพร่ระบาดของไววัสที่ส่งผลให้หลายเมืองในยุโรปกลับมาใช้มาตรการปิดเมือง ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.177 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.70-0.80% โดยสืบเนื่องต่อจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นจากความหวังต่อมาตรการการคลังของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามมีนักลงทุนบางส่วนเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับทางรัฐมนตรีคลังสหรัฐที่ชี้ว่าข้อตกลงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งเป็นไปได้ยาก รวมถึงข้อเสนอต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของทรัมป์ยังคงถูกปฏิเสธ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงมาทดสอบแนวรับที่ 0.70% แต่ก็ยังไม่สามารถทะลุลงไปได้ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของฝั่งยุโรปนั้นนักลงทุนอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงจากประเด็นความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมือง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี เคลื่อนไหวปรับตัวลดลงหลุดระดับ -0.55% มาเคลื่อนไหวในกรอบใหม่ที่ -0.65% ถึง -0.55% ขณะที่ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ มีข่าวที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2020 มาที่ -4.4% จากประมาณการเดิมที่ -5.2% ในเดือนมิถุนายน โดยประเมินเศรษฐกิจหลักดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ(-4.3% จาก -8% ในประมาณการครั้งก่อน) ยูโรโซน (-8.3% จาก -10.2%) และจีน (1.9% จาก 1.0%) ขณะที่คาดเศรษฐกิจไทยหดตัว 7.15% ปีนี้ (เดิม -7.7%) และ +4% ในปีหน้า (เดิม +5%)

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับระดับเดิมในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิง 3ปี (LB246A) และ 50ปี (LB716A) ตัวใหม่ซึ่งผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น 3ปี มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 0.74% และพันธบัตรรัฐบาลรุ่น 50ปี มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 2.51% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี สะท้อนผ่าน Bid coverage ratio ที่ 4.17 เท่า และ 2.41 เท่าตามลำดับ ทำให้ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.53% 0.58% 0.68% 0.89% 1.11% และ 1.40% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง A- ปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 1-6 bps ขณะที่หุ้นกู้ในกลุ่ม BBB+ ลงไปที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1ปี credit spread ปรับลดลง 1-4 bps ส่วนกลุ่ม BBB+ ลงไปที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1ปี credit spread กลับปรับตัวสูงขึ้น 1-6 bps

ติดตามการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งสุดท้ายของทรัมป์-ไบเดนก่อนวันเลือกตั้ง

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 2,487 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 999 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,494 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,006 ล้านบาท