posttoday

ความตั้งใจที่ไม่เคยได้ทำ

14 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

หลายท่านคงจะเคยมีประสบการณ์ในการที่ตั้งใจจะทำอะไรซักอย่างแล้วมันไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว แล้วก็ไม่เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้มันไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจที่ดี ความตั้งใจที่แน่วแน่มากๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ทุกคนมักจะเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อยๆ ว่าภายในตัวเราเหมือนมีอะไรบางอย่างคอยต่อต้านเราในการที่จะทำตามที่ตั้งใจไว้ ทุกครั้งที่เราจะพยายามออกจากความสบายในจุดที่เราคุ้นเคย เพื่อจะพัฒนาตนเอง ก็จะมีคำพูดต่างๆ ดังขึ้นมาเต็มหัวไปหมด “อย่าทำให้ตัวเองต้องลำบากเลย” “งานนี้น่าจะเหนื่อยสุดๆ” “มันอันตรายมากเลยนะ” “ยังพอมีเวลาอีกถมเถ” “ทำไม่ได้หรอก” “ไว้วันหลังดีกว่า” จะเห็นได้ว่าการที่คนเราจะทำอะไรให้สำเร็จซักเรื่อง ตัวสกัดมันช่างมากมายจริงๆ ซึ่งมีดังนี้

หน้าที่ความรับผิดชอบ คำนี้ก็มักจะสกัดไม่ให้เราไปถึงความตั้งใจที่คิดไว้ การใช้ข้ออ้างว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นดูง่ายและดูดีด้วยในการที่จะปฏิเสธสิ่งอื่นที่อยากทำ เราหลงกลมันบ่อยแค่ไหน ลองคิดดูนะครับ เราไม่ได้ไปเที่ยวอย่างที่ใจต้องการ ไม่ไปออกกำลังกายอย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวอย่างที่ตั้งใจ เพราะเราอ้างว่ามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบที่รัดตัวจนไม่มีเวลาพอสำหรับเรื่องเหล่านั้น สุดท้ายความตั้งใจที่จะมีร่างกายที่แข็งแรง ความตั้งใจที่จะมีเวลาให้ครอบครัวที่มากขึ้นก็จะถูกฝังด้วยข้ออ้างที่ว่า เรามีเรื่องอื่นที่สำคัญให้ต้องรับผิดชอบ

หน้าที่ความรับผิดชอบมักแสดงออกในรูปของการปฏิเสธความจริง โดยเรามักเสแสร้งว่าเสียใจและทำให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่อ้างไปนั้นคือการเสียสละ หลายคนหยิบยกหน้าที่ความรับผิดชอบขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างอยู่เสมอ เพราะมันจะช่วยให้เราไม่ต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ ที่ทำให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และหลายต่อหลายครั้งที่เราไม่ยอมเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ตามที่ตั้งใจโดยอ้างว่ามีหน้าที่ที่ค้ำคออยู่ แต่ไม่ว่าการอ้างหน้าที่ความรับผิดชอบจะทำให้เราดูดีหรือดูไม่ผิดอย่างไรก็ตาม แต่เราก็หนีความจริงไม่พ้นอยู่ดีว่า เราไม่ได้ทำเรื่องอื่นในสิ่งที่ตั้งใจไว้

ความตั้งใจที่มาพร้อมกับการตั้งเงื่อนไขที่แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ หลายคนก็มักจะหลงกลกับเจ้าสิ่งนี้โดยที่เราเองก็ไม่ทันรู้ตัว เช่น บางคนอยากเป็นนักพูด อยากเป็นนักเขียน อยากออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยากเล่นไตรกีฬาที่ไม่เคยเล่น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยทำได้จริงๆ ซักครั้ง ซึ่งคำตอบที่มักได้รับก็คือ การตั้งเงื่อนไข ที่ว่า “ฉันยังทำไม่ได้ เพราะฉันต้อง ...... ก่อน” แน่นอนว่าต้องมีการตั้งเงื่อนไขอะไรซักอย่าง ที่ร้ายกว่าคือเป็นเงื่อนไขที่เราตั้งขึ้นเองเสียด้วย ไม่ใช่เงื่อนไขในเรื่องนั้นจริงๆ ที่ต้องทำ เช่น ต้องศึกษาข้อมูลก่อน ต้องสำรวจความคิดเห็นก่อน ต้องไปถามผู้รู้ก่อน ต้องให้ผ่านช่วงยุ่งๆ ช่วงนี้ไปก่อน เป็นต้น จะเห็นว่าเงื่อนไขที่เราตั้งเองเป็นตัวสกัดไม่ให้เราทำตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกแล้ว คำว่า “อยากทำ .... แต่ ....” มันก็ตอบในตัวอยู่แล้วว่าไม่ทำครับ

“ใครสักคน” คำสามคำนี้ผมพบเจออยู่บ่อยมากๆ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่ชอบแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ดังนั้น เวลาประชุมหรือทำโครงงานอะไรซักอันที่ต้องมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน ธรรมชาติของมนุษย์มักจะชอบหลีกเลี่ยงการผูกมัดตัวเองอยู่แล้ว และคำที่วิเศษคำหนึ่งที่มักได้ยินเวลามีการประชุมกันคือ คำว่า “ใครสักคน” เพราะคำสามพยางค์นี้มีประสิทธิภาพมาก กล่าวคือ มันสามารถเปลี่ยนความรับผิดชอบส่วนบุคคลให้ไปเป็นภาระของสังคมได้ทันที คนหลายคนมักใช้มันในหลายบริบทอย่างไม่รู้ตัว เช่น “ใครสักคนควรจะ ...” “ใครสักคนน่าจะ ...” “บางทีใครสักคนสามารถ ...” “แน่นอนว่าควรมีใครสักคนเป็นคนทำ” แล้วใครล่ะครับ คนที่พูดหรอ ไม่ใช่หรอก เพราะเขาบอกมาแล้วไง ว่าใครสักคน สรุปได้ว่า “ใครสักคน” เป็นรหัสลับที่มีความหมายว่า คนที่พูดได้รับอนุญาตให้อยู่เฉยๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น แต่สามารถเสนอให้ใครสักคนทำได้ ถ้าองค์กรไหนเวลาประชุมกัน มีลักษณะแบบนี้ สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คงไม่มีวันสำเร็จ และก็คงต้องมีใครสักคนหันมาทบทวนเรื่องนี้ได้แล้ว

การอ้างกฎระเบียบ หลายต่อหลายครั้ง การที่อ้างกฎระเบียบ จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการต้องการทำให้ถูกต้อง แต่กลับเป็นการผัดผ่อนออกไปก่อน เช่น กำลังรอคำอนุมัติอย่างเป็นทางการ จึงจะสามารถดำเนินการได้ หรือ ต้องรอรายงานการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ถึงจะดำเนินการได้ เป็นต้น ทั้งๆ ที่คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็นั่งอนุมัติอยู่ในการประชุมนั้น ถ้าองค์กรไหนเป็นแบบนี้มากๆ สิ่งดีๆ ที่ตั้งใจทำก็อาจจะไม่สำเร็จ หรืออาจจะสำเร็จแต่ก็อาจไม่ทันการณ์

สุดท้ายคือ ไม่มีเส้นตาย หลายครั้งที่เรามีความตั้งใจดี กระบวนการคิดดี ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพราะการตัดสินใจในการทำให้ความตั้งใจกลายเป็นความจริงนั้น ถ้าไม่มีการวางแผนและกำหนดเส้นตายในเรื่องที่จะทำให้แล้วเสร็จ ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้ความตั้งใจนั้นเป็นไปตามยถากรรม และมันจะมีโอกาสกลายเป็นจริงน้อยมากครับ จำไว้เลยครับ ไม่กำหนดเส้นตาย เท่ากับ ไม่ทำครับ เราพอจะทราบกันแล้วว่าตัวสกัดให้เราไปไม่ถึงความตั้งใจที่วางไว้ คืออะไร ก็คงต้องตระหนักรู้กันให้มากๆ เวลาที่ตั้งใจจะทำอะไรกันนะครับ