posttoday

ติดตามปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ

12 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.90-31.40 นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายสตีเฟน มนูชิน และประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี เพโลซี เกี่ยวกับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังประธานาธีดีโดนัล ทรัมป์กลับลำสนับสนุนการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงด้านการโต้วาทีครั้งที่2 ระหว่างทรัมป์และไบเดน หลังทรัมป์ปฏิเสธการโต้วาทีทางไกล ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 15 ตุลาคม ด้าน Brexit นักลงทุนรอติดตามพัฒนาการการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู โดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ขู่ว่าล้มการเจรจา หากสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงทางการค้าในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยูโรโซนเดือนกันยายน ด้านเอเชีย จีนมีกำหนดรายงานตัวเลขการส่งออก ยอดการปล่อยสินเชื่อ และอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การส่งออกจีนโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ แต่การส่งไปยุโรปอาจได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์นี้

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทกลับมาแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยเคลื่อนไหวในช่วง 31.05-31.40 เนื่องจากนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง เมื่อประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ออกจากโรงพยาบาลและกลับทำเนียบขาวแล้ว ขณะเดียวกันความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มีมากขึ้น เมื่อทรัมป์มีท่าทีสนับสนุนวงเงินของมาตรการที่สูงขึ้น แม้ว่าทรัมป์จะไม่ต้องการข้อเสนอของเดโมแครตวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องการมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจเพียงบางส่วนเท่านั้น ด้านนโยบายการเงิน รายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดชี้ว่า คณะกรรมการต้องการอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการพิจารณาขยายเวลาหรือเพิ่มขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ อีกทั้งตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.9 จุดมาที่ 57.8 ในเดือนกันยายน เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ การจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดคาดลดลงมาที่ 56.3

ด้านไทย รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) เมื่อวันที่ 23 กันยายนชี้ว่า คณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 และสนับสนุนให้รัฐเร่งใช้จ่าย โดยส่งสัญญาณคงดอกเบี้ย โดยคงดอกเบี้ยนโยบายยังคงไว้ที่ 0.50% และประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้ประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายสู่ระบบเศรษฐกิจจริงลดลง รวมทั้งกระทบเสถียรภาพในภาคการเงิน ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.06 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีสามารถทะลุผ่านแนวต้านที่ 0.70% ได้สำเร็จ ทำให้กรอบการซื้อขายขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.70-0.80% โดยสาเหตุหลักของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาจากประเด็นที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ออกจากโรงพยาบาลทำให้ความเสี่ยงที่จะเลื่อนการเลือกตั้งลดลง รวมไปถึงความหวังต่อมาตรการการคลังของสหรัฐฯ ที่ถึงแม้ว่าในช่วงกลางสัปดาห์คุณทรัมป์จะสั่งระงับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น แต่ท้ายสุดแล้วคุณทรัมป์ได้กลับลำสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนทำให้ตลาดกลับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง เช่นเดียวกับความเห็นของประธานเฟด คุณโพเวลที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ เร่งออกมาตรการการคลังรอบใหม่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วจากโควิด-19 แต่ยังไม่ถึงช่วงก่อนวิกฤต ทั้งนี้นโยบายการเงินและการคลังต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น พร้อมกับเตือนว่าหากภาครัฐไม่ให้การสนับสนุน เศรษฐกิจอาจตกสู่ภาวะอ่อนแอได้ ขณะที่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญมีตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.9 จุดมาที่ 57.8 ในเดือนกันยายน ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.4 แสนคน สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 8.49 แสนคน แต่สูงกว่าตลาดคาดที่ 8.2 แสนคน ส่วนทางฝั่งยูโรโซนมีการประกาศอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนกันยายนลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี2015 โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเท่ากับเดือนก่อนที่ -0.2%YoY ขณะที่ดัชนีราคาพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) ลดลงมาที่ 0.2%YoY จาก 0.4%YoY ในเดือนก่อน ส่งผลให้ตลาดคาดว่าอีซีบีจะส่งสัญญาณเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพี่อพยุงเงินเฟ้อ ซึ่งประธานอีซีบีได้ให้คำมั่นว่าธนาคารกลางจะยังผ่อนคลายนโยบายการเงินจนกว่าการระบาดของโควิด-19 จะจบลง และสอดคล้องกับคำแถลงก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางจะต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.50 ถึง -0.55%

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) เมื่อวันที่ 23 กันยายนชี้ว่าคณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปี ถึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ กนง. มีความกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงาน จากความเสี่ยงการถูกลดค่าจ้างและเลิกจ้างเพิ่มเติมจากการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น มาตรการเยียวยาภาครัฐที่ทยอยสิ้นสุดลง มาตรการรองรับแรงงานคืนถิ่น และการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ยากมากขึ้นหลังการระบาดคลี่คลายลง ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ 0.50% และประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้ประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายสู่ระบบเศรษฐกิจจริงลดลง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจมีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยเดือนกันยายนติดลบ 7 เดือนติดต่อกันที่ -0.7%YoY และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.25%YoY ส่วนผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนกันยายนโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าชี้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนลดลงมาที่ 50.2 จากเดือนก่อนที่ 51.0 เนื่องจากประชาชนกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศลาออกอย่างกะทันหัน ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อยตลอดทั้งเส้นอัตราผลตอบแทน อย่างไรก็ตามถือเป็นการปรับตัวขึ้นที่น้อยกว่าตลาดโลก เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีแรงกดดันทางด้านอุปทานของพันธบัตร ทำให้ ณ วันที่ 09 ตุลาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.59% 0.68% 0.88% 1.10% และ 1.40% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา credit spread ของหุ้นกู้ rating AA+ ถึง AA- มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดประมาณ 2-5 bps เนื่องจากช่องว่างของ credit spread ระหว่าง AAA กับกลุ่ม AA มีความห่างจนทำให้กลุ่ม AA เริ่มมีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน ประกอบกับอันดับความน่าเชื่อถือยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าสูงกลุ่มดังกล่าว

ติดตามปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 1,426 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 200 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,626 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ