posttoday

โอกาส SME ไทย เจาะตลาดค้าปลีกออนไลน์เปรู

09 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ชี้ช่อง เอสเอ็มอีไทย เข้มแข็ง โดย...สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์เครดิต ธนาคารกสิกรไทย

เปรูเป็นประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ห่างไกลกับไทยค่อนข้างมาก แต่เป็นตลาดที่น่าสนใจจากการทำความตกลง FTA ซึ่งเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตได้ อีกทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของเปรูก็ช่วยขับเคลื่อนกำลังซื้อของคนในประเทศ แม้รายได้ประชากรจะสูงขึ้นแต่พฤติกรรมการบริโภคส่วนใหญ่ยังผูกติดกับการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 80% ของยอดค้าปลีกในเปรู ซึ่งร้านค้าปลีกดั้งเดิมมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ที่ประชากรรายได้น้อยกับชนชั้นกลาง ขณะที่ยอดค้าปลีกอีก 20% เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่กระจายตัวตามเมืองใหญ่ และได้อานิสงส์ขยายร้านค้าจากการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ของประชากรเป็นหลัก เน้นจับกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางถึงลูกค้าระดับบน มีการนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป และมีทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการสินค้าแปลกใหม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ พร้อมทั้งมีโปรโมชั่นพิเศษหากใช้บัตรเครดิตของร้านค้าปลีก

โอกาสของสินค้า SME ไทยจึงอยู่ที่การนำสินค้าไทยให้เข้าสู่เครือข่ายร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ของเปรู ซึ่งผู้บริโภคชาวเปรูต่างคาดหวังว่าจะได้สินค้าและบริการที่แปลกใหม่กว่าท้องตลาดทั่วไป มีคุณภาพในราคาที่คุ้มค่า ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานนานจะต้องมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือจึงจะดึงดูดใจชาวเปรูได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเน้นที่การแข่งขันด้านราคา โปรโมชั่นหรือส่วนลดอันจะมีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า

นอกจากนี้ ช่องทางการค้าปลีกผ่านออนไลน์ของเปรูก็มีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยในช่วงปี 2558-2562 มูลค่าการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 37.7% จากมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ฯ มาแตะที่ 6.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ประกอบกับประชากรไม่ต่ำกว่า 18.55 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตติดอันดับ 5 ของประเทศในละตินอเมริกา แม้ว่าผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะเป็นประชากรในเมือง แต่การเติบโตในชนบทก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว

การนำสินค้า SME ไทยไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในตลาดเปรูอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความห่างไกลของประเทศทำให้สินค้าไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผู้ประกอบการควรศึกษา 2 สิ่งสำคัญ ดังนี้

1. การตั้งราคาและการทำโปรโมชั่นต่างๆ สินค้าที่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า สื่อบันเทิง อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าสุขภาพ อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง และของแต่งบ้าน โดยต้องให้ความสำคัญกับโปรโมชั่นที่ดึงดูดมากกว่าการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน

2. เว็บไซต์ที่ชาวเปรูนิยมในรูปแบบ B2C ได้แก่ Mercado Libre, OLX, Linio, Falabella, Ripley และ Platanitos ส่วนใหญ่ยังคงชำระเงินผ่านบัตรเครดิต 55% ชำระเงินด้วยเงินสด 30% ชำระเงินผ่านบัตรเดบิต 6% ชำระเงินผ่านการโอนเงิน 6% และเป็นการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลกับการโอนเงินผ่าน ATM 3%

จะเห็นได้ว่าตลาดค้าปลีกของเปรูทั้งในรูปแบบมีหน้าร้านและรูปแบบออนไลน์มีความน่าสนใจจากการเป็นตลาดใหม่ที่มีการเติบโตรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสดีที่สินค้า SME ไทยเข้าแทรกตัวทั้งในเมืองใหญ่และในเมืองรองที่มีการเติบโตสูง และธุรกิจไทยก็ยังมีตัวช่วยลดต้นทุนการนำเข้าผ่าน FTA ระหว่างไทยกับเปรู สำหรับ SME ไทยที่สนใจทำตลาดนี้คงต้องหาคู่ค้าในเปรูให้ช่วยทำตลาด และต้องให้ความสำคัญกับกฎระเบียบที่มีผลต่อการนำสินค้าไปจำหน่ายไม่ว่าจะแบบช่องทางปกติหรือแบบออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่จะต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการนำเข้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยของเปรู ซึ่งในระยะแรกผู้ประกอบการควรร่วมงานแสดงสินค้ากับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยเพื่อทดลองตลาดและสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไปในตัว โดยติดต่อกรมการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในฝั่งไทยเป็นหลัก