posttoday

รู้เพื่อรอด!!! วัคซีนโควิด เศรษฐกิจ และการลงทุน

29 กันยายน 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...พรชัย อร่ามอาภากุล ผู้บริหารงานส่งเสริมการลงทุนลูกค้า CFP ธนาคารกสิกรไทย

ความหวังอันสูงสุดที่ทุกคนทั่วโลกเฝ้ารอในเวลานี้ คงไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่า “วัคซีนโควิด-19” อีกแล้ว เพราะจะทำโลกให้หลุดพ้นหนึ่งในวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดไปได้ และจะส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อเราทุกคน ทั้งด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งในช่วงปลายปี 2020 นี้ การแข่งขันที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือได้ว่าเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับ 3 ประเทศมหาอำนาจทั้ง สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย เทคโนโลยีสุดล้ำหน้าถูกนำมาใช้ในกระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อย่นย่อระยะเวลาให้สั้นลง เพื่อให้ได้วัคซีนออกมาโดยเร็วที่สุด การทดลองวัคซีนในมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะเพิ่มจำนวนอาสาสมัครในการทดลองมากขึ้นเรื่อยๆ

• ระยะที่ 1 ทดสอบในมนุษย์แบบปลอดภัย เพื่อหาขนาด (Dose) ที่เหมาะสม และทดสอบความปลอดภัย โดยจะทดสอบในอาสาสมัครหลายกลุ่มไม่เกิน 100 คน ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน

• ระยะที่ 2 ขยายการทดสอบในมนุษย์ เพื่อหาประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และทดสอบความปลอดภัย โดยจะทดสอบในอาสาสมัคร 500 คน ใช้ระยะเวลา 4-5 เดือน

• ระยะที่ 3 ทดสอบในมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ และค้นหาผลข้างเคียง (ทดสอบในอาสาสมัคร 3000-5000 คน และดูว่ามีกี่คนที่ยังติดเชื้อ ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะมีอุปสรรคหลายเรื่อง ทั้ง ต้นทุนการผลิตสูง การแข่งขันกับเวลา และโอกาสประสบความสำเร็จที่ตามสถิติแล้วไม่สูงนัก ประเด็นที่สำคัญคือโค้งสุดท้ายของพัฒนาวัคซีนจะส่งผลต่อ แนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร และ ควรวางแผนการลงทุนอย่างไร เรามาไล่เรียงทีละประเด็น

วัคซีนโควิด-19 จะพร้อมใช้เมื่อไร?

มีความเป็นไปได้พอสมควรที่เราอาจได้เห็นการพัฒนาวัคซีนสำเร็จภายในปี 2020 นี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าจะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จในช่วงกลางปี 2021 โดยหากดูจากข้อมูลในเดือนกันยาน 2020 พบว่ามีถึง 2 บริษัทจากจีน ที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนแต่ยังคงอยู่ในวงจำกัด (Limited Use) คือ วัคซีนโควิด-19 ของ CanSinoBio และวัคซีนของ Sinovac และ มีอีก 1 วัคซีนต้านโควิด-19 ของสถาบันวิจัย Gamaleya ของรัสเซียที่ใช้ชื่อว่า วัคซีนสปุตนิก เป็นวัคซีนที่เข้าสู่ระยะที่ 3 หลังทางการรัสเซียประกาศอนุมัติการใช้ก่อน (Early Use) ไปแล้ว ถือได้ว่าความหวังใกล้จะเป็นความจริงเข้าไปทุกที นอกจากนี้ยังมีกว่า 10 บริษัทชื่อดังที่อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 และคาดหมายว่าอาจสามารถผลิตวัคซีนได้เป็นกลุ่มแรกๆ ได้ เช่น Pfizer(สหรัฐฯ), Moderna (สหรัฐฯ), AstraZeneca (ยุโรป) โดยยังต้องติดตามผลการทดสอบเป็นระยะที่จะมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้

เศรษฐกิจไทย...ก็ต้องการวัคซีนเช่นกัน

ดูเผินๆ เรารู้สึกว่า ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนัก เรามีมาตรการต่างๆที่น่าจะ “เอาอยู่” และตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รถเริ่มติด ห้างเริ่มเต็ม เศรษฐกิจก็น่าจะเริ่มฟื้นได้แล้ว รู้หรือไม่ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพิงการส่งออกและท่องเที่ยวถึง 70%!! ดังนั้นแม้ว่าเราจะควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่หากเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจอย่างการส่งออกมีปัญหา เศรษฐกิจไทยย่อมฟื้นตัวได้ยาก ส่วนวัคซีนต้านโควิด-19 ของไทยยังคงอยู่ในระยะก่อนการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งกำลังเร่งผลักดันให้เริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยหวังว่าไทยจะผลิต “วัคซีนโควิด-19” เร็วสุดกลางปี 64 ส่วนวัคซีนทางเศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ และการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังรวมถึงเสถียรภาพของภาครัฐฯที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในปีหน้า

เศรษฐกิจโลกยุคโควิด ใครรุ่งใครร่วง?

เชื้อโควิด-19 เป็นเหมือนฝนตกครั้งใหญ่ที่ทุกคนเปียกกันหมด บางประเทศได้รับผลกระทบมาก บางประเทศกระทบน้อย ขึ้นอยู่กับหลายมิติทั้งความพร้อมในการบริหารจัดการรับมือ โครงสร้างเศรษฐกิจ ความมีวุฒิภาวะของผู้นำ ล้วนส่งผลต่อผลกระทบทั้งสิ้น โดยประเทศกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจำกัดและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ เช่น จีนและเวียดนาม ซึ่งนอกจากจะสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ดีแล้วยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจกิจที่ดีอีกด้วยส่งผลให้เศรษฐกิจพื้นตัวได้เร็ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลกคือประเทศกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักซึ่งดูได้จากอันดับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดของโลกทั้ง สหรัฐฯ อินเดีย บราซิล และรัสเซีย

ไม่ใช่ว่าทุกตลาดหุ้น...จะแย่เหมือนเศรษฐกิจ

รู้หรือไม่ว่าหลายตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่จากโควิด แต่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในปีนี้ ที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่ามีหลายบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก็คือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Facebook, Apple, Netflix, Google จากการที่เราถูกบังคับให้ต้องอยู่บ้านมากขึ้นเดินทางน้อยลงกลับเป็นโอกาสของธุรกิจเหล่านี้ หากเปรียบเทียบ โควิด19 เป็นฝนที่ตกหนักต่อเนื่องที่ทำให้เราเปียกทุกคน แต่บริษัทขายร่มจะยิ้มอย่างแน่นอน เพราะร่มย่อมขายดีขึ้น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้เปรียบได้ดังบริษัทผลิตร่มนั่นเอง หันมาดูที่ประเทศไทย ที่ชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจเราสาหัส นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั้นแทบไม่มีบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้ประโยชน์จากการเกิด โควิด19 เลย แน่นอนว่านี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปี 2020 นี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 20% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกลงทุนเฉพาะตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป จำเป็นที่เราต้องมีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศด้วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีก 1 New normal สำหรับการลงทุนยุคโควิด ถือเป็นโชคดีมากที่ปัจจุบันเรามีเครื่องมือการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่สะดวก อย่างกองทุนรวม รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลการลงทุนก็ค่อนข้างง่าย

พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) จะกลับมาอย่างแน่นอน

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดิน และมีแนวโน้มที่จะต่ำแบบนี้อย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องวางแผนลงทุนอย่างจริงจัง อย่างวิกฤตโควิดรอบนี้มีบางสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ชัดเจน เช่น ราคาทองคำที่ปรับพุ่งขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจ ดังนั้นสิ่งที่อยากนะนำด้านการลงทุนคือ

o มีการจัดสรรเงินลงทุน โดยกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้ง ตราสารหนี้ หุ้นทั้งในและต่างประเทศ ทองคำ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์

o ควรลงทุนอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า โอกาสจะมาเมื่อไร จึงจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนตลอดเวลาเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

o เลือกการลงทุนที่เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ เอาว่าต้องอย่างน้อยลงทุนแล้วต้องนอนหลับสบาย ไม่เครียดจนเกินไป

o และอย่าลืม เตรียมสภาพคล่องทางการเงิน โดยปกติเราควรมีสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ที่เรามีไว้ใช้หรือสำรองไว้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำขั้นต่ำ 3 – 6 เดือน

ขอให้เราผ่านวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปด้วยกันครับ